สยามพารากอน สร้างปรากฏการณ์ศิลปะ Interactive Digital Art สุดล้ำ ชวนศิลปินดิจิทัลอาร์ตระดับโลก “มิเกล เชอวาลิเยร์” สร้างสรรค์สุดยอดประสบการณ์ Art Tech พร้อมแบ่งปันไอเดียการทำงานแก่คนรุ่นใหม่ บนพื้นที่ SCBX NEXT TECH
พื้นที่ชั้น 4 ของศูนย์การค้าสยามพารากอน บริเวณ “SCBX NEXT TECH” ซึ่งออกแบบให้เป็นเทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต คึกคักไปด้วยนักศึกษา คนรุ่นใหม่ และคนทำงานในแวดวงดิจิทัลอาร์ตกว่า 200 ชีวิต ซึ่งตั้งใจมารวมตัวกันเพื่อร่วมสัมผัสประสบการณ์ และรับฟังมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลอาร์ตสุดล้ำจากศิลปินชื่อดัง “มิเกล เชอวาลิเยร์” (Miguel Chevalier) โดยสยามพารากอนได้รับเกียรติจากศิลปิน ผู้บุกเบิกและคลุกคลีกับงานดิจิทัลอาร์ตมากว่า 40 ปี ในการร่วม CO-CREATION สร้างประสบการณ์อินเตอร์แอคทีฟในรูปแบบ Art Tech อันน่าตื่นตาตื่นใจที่ออกแบบเพื่อนำเสนอบนพื้นที่โซน SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอนโดยเฉพาะ
อมัจจ์ สมบูรณ์เจริญ นักยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรมธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “SCBX NEXT TECH” เป็นเทคคอมมูนิตี้แห่งโลกอนาคต โดยความร่วมมือระหว่าง SCBX และพาร์ทเนอร์ระดับโลกอีกมากมาย เพื่อให้เป็น Co – Creation Community พร้อมเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของทั้งนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตลอดจนผู้สนใจได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาตนเอง เพื่อ “Smarter , Better , Richer” โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในเดสติเนชั่นที่ผู้คนที่สนใจในด้านเทคทุกแขนงจากทั่วโลกต้องการมาเยือน
“ดิจิทัลอาร์ตเป็นหนึ่งในแขนงเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ และได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก ในฐานะที่สยามพารากอนเป็น Global Luxury Destination ผู้นำแห่งการนำเสนอไลฟ์สไตล์ทันสมัย และสร้างสรรค์ประสบการณ์แปลกใหม่ เราจึงได้เชิญ มร.มิเกล เชอวาลิเยร์ ศิลปินดิจิทัลอาร์ตระดับโลก ร่วมสร้างสรรค์สุดยอด Interactive Digital Art โดยเป็นครั้งแรกสำหรับ มร.มิเกล ที่สร้างสรรค์ผลงานบนกำแพงจอ LED เนื่องจากที่ผ่านมาผลงานของเขาจะเป็น Projection Mapping บนพื้นหรือผนังอาคาร ซึ่งรับรองว่าจะสร้างความตื่นตาตื่นใจ และเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชมได้อย่างแน่นอน
มร.มิเกล เชอวาลิเยร์ ศิลปินดิจิทัลอาร์ตชาวฝรั่งเศส ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้บุกเบิกงานดิจิทัลอาร์ต ในกิจกรรม “Digital Art Talk With Miguel Chevalier” ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับสยามพิวรรธน์อีกครั้ง ซึ่งการร่วมงานในครั้งนี้นับว่าพิเศษเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกของเขาที่จะนำเสนอผลงานบนกำแพงจอ LED และจอทรงกลม ซึ่งออกแบบมาสำหรับสยามพารากอนโดยเฉพาะ โดยผลงานที่เขาออกแบบเพื่อนำเสนอบนพื้นที่ SCBX NEXT TECH มาในรูปแบบของความล้ำสมัยที่พัฒนาต่อยอดผลงานใหม่ขึ้น 2 ชิ้น คือ Vortex และ Kinetic Waves สองผลงานดิจิทัลอาร์ตที่ไม่เพียงมาพร้อมภาพเสมือน (Virtual Paintings) ที่มีรูปทรง เส้นสาย และสีสันสดใสเท่านั้น หากแต่ยังเชื้อเชิญให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับการสร้างสรรรค์และดัดแปลงผลงานขึ้นใหม่ ก่อให้เกิดสุดยอดประสบการณ์การชม Art Tech แบบอินเตอร์แอคทีฟชนิดเรียลไทม์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสเป็นเวลาหนึ่งปี
สำหรับผลงาน Vortex เป็นงานศิลปะที่นำเสนอบนหน้าจอ LED ทรงกลมวงแหวนขนาดใหญ่ สร้างสรรค์ในรูปแบบ Generative Art ซึ่งใช้พลังของคอมพิวเตอร์ในการสร้างผลงานในลักษณะของเส้นแสงที่มีความลื่นไหล และหมุนวนไหลเวียนอย่างต่อเนื่องตลอดวงแหวนอย่างไม่สิ้นสุด ภาพที่ออกมาจึงไม่ซ้ำกันเลย ความสว่างไสวและมีชีวิตชีวานี้ เชื้อเชิญให้ใคร่ครวญถึงความงดงามและความซับซ้อนของกระแสที่มองไม่เห็น ซึ่งกำหนดทิศทางโลกของเรา ขณะเดียวกันก็ย้ำเตือนให้ตระหนักถึงที่ทางของเรา ซึ่งอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไม่มีวันสิ้นสุด
ขณะที่ผลงานชุด Kinetic Waves เป็นงานศิลปะในรูปแบบ Interactive Virtual Reality เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีความลื่นไหลจากการสร้างภาพเสมือนจากรูปทรงเรขาคณิต (Virtual Geometric Grids)ที่แตกต่างกันถึง 32 แบบ จัดเรียงและให้สีโทนสว่างที่ตัดกัน พร้อมเอฟเฟกต์ที่ทำให้รู้สึกถึงความลึกและความนูน ก่อให้เกิดภาพลวงตาขึ้น และเมื่อผสานกับการนำเสนอแบบ Interactive ภาพความเคลื่อนไหวก็ชวนให้ตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น ความพิเศษยิ่งไปกว่านั้น ซึ่งจะเปิดประสบการณ์ใหม่ของการชมอาร์ตเทคให้แก่ผู้ชมก็คือ การมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์และดัดแปลงผลงานผ่านการเคลื่อนไหวของผู้ชมทั่วบริเวณ ตั้งแต่บันไดทางเดินไปจนถึงหน้าจอชั้น 5 ทำให้ผู้ชมได้ร่วม Co-create งานดิจิทัลอาร์ตไปกับผลงานของศิลปินระดับโลก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นมิติภาพที่แตกต่างกันตลอดเวลา
“สิ่งที่ผมพยายามสร้างก็คือ การนำเสนอวิธีใหม่ในการแสดงออกทางศิลปะ และการตีความด้วยกลวิธีและรูปทรงใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นความงามที่เกิดขึ้นจากวิธีที่แตกต่างจากภาพวาด ภาพถ่าย หรือวิดีโอ เพราะศิลปะแต่ละแขนงก็มีความงามในรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างกันไป สิ่งที่ผมกำลังทำ คือการดึงความสวยงามจากความเป็นดิจิทัลออกมา และออกแบบให้เข้าถึงผู้คนได้ชมในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับงานศิลปะมากกว่าการมองดูเพียงอย่างเดียว”
มร.มิเกล กล่าวต่อว่า การทำงานศิลปะแขนงอื่น ศิลปินอาจทำงานด้วยตัวเองเพียงคนเดียว แต่การสร้างงานรูปแบบอาร์ตเทค คือการผสมผสานระหว่างศิลปะและเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้าด้วยกัน เขาจึงทำงานเป็นทีม ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ และช่างเทคนิคผู้นำเสนอผลงานขึ้นจอในพื้นที่จัดแสดง โดยตัวเขาเองทำงานในส่วนของการสร้างสรรค์ไอเดียและวางคอนเซ็ปต์ แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญเขียนอัลกอริธึมออกมาให้ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้
“ความท้าทายของศิลปิน คือการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งงานของผมเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีและเครื่องมือ เราจึงต้องหาทางพัฒนางานใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยี ซึ่งเครื่องมือและเทคโนโลยีโดยตัวมันเองก็พัฒนาไปเรื่อยๆ เช่นกัน เมื่อมีเครื่องมือใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่งานแขนงใหม่ๆ ด้วย ฉะนั้นความท้าทายคือเราต้องตามเทคโนโลยีให้ทันและใช้ให้เป็น”
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นดิจิทัล อาร์ตทิสต์ มร.มิเกล กล่าวทิ้งท้ายโดยให้คำแนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องมีคือศิลปินต้องพัฒนารูปแบบของตนเอง และสร้างเอกลักษณ์ขึ้น รวมถึงจำเป็นต้องอัพเดตตัวเองอยู่เสมอ การเป็นศิลปินต้องใช้พลังงาน ความมุ่งมั่น และความอดทน กว่าจะมาถึงวันนี้ ผลงานของเขาเองก็ใช้เวลาในการสร้างการยอมรับและความเข้าใจ ศิลปินต้องเปิดกว้างต่อโลก มีความสนใจใคร่รู้ในทุกสิ่ง ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ และผลงานที่ศิลปินคนอื่นสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม เพลง หรือแม้แต่การเต้นรำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจเทรนด์ของยุคนั้น ซึ่งตัวเขาเองแม้จะคร่ำหวอดและเป็นมืออาชีพทางด้านนี้ แต่ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาและหยุดผลักดันตัวเองเลย เขายังคงค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ และเรียนรู้อยู่เสมอ
ร่วมสัมผัสผลงานอินเตอร์แอคทีฟเหนือระดับสร้างสรรค์โดยศิลปินดิจิทัลอาร์ตชื่อดัง “มิเกล เชอวาลิเยร์” บนพื้นที่ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 ศูนย์การค้าสยามพารากอนติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : SIAMPARAGON และ SCBXNextTech
#SmarterBetterRicher #SCBXNextTech #FutureScape
#SiamParagonSCBXNextTech
No comments