กรมการพัฒนาชุมชน เดินต่อแผนโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
กรมการพัฒนาชุมชน เดินต่อแผนโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พัฒนาการสื่อสารด้านการตลาดผ่านสื่อสังคม Online เช่น Facebook, Line, Twitter ล่าสุดจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์อาหาร) ให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศ 76 จังหวัด 788 ผลิตภัณฑ์ มั่นใจสร้างรายได้ชุมชนมีสุขถ้วนหน้า
นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์อาหาร) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ณ อิมแพค เมืองทองธานี นนทบุรี ที่ผ่านมาว่า เป็นกิจกรรมภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
นายนิวัติกล่าวต่อว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านให้ได้ใช้ศักยภาพและมีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องทักษะการบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การจัดทำกิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยว การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนมีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าและความคุ้มค่าผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เป็นแอ่งใหญ่ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านที่เป็นแอ่งเล็ก รวมถึงบูรณาการการดำเนินงาน ในรูปแบบประชารัฐและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนได้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว เช่น มีการจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสามารถลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองตามแนวทาง D-HOPE (Decentralized Hand – On Program Exhibition) เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนประสบความสำเร็จได้นั้น มีอยู่ 3 ประการสำคัญ ได้แก่
1. การพัฒนาศักยภาพตนเองให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยต้องมีองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็น เช่น การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว นโยบายเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล รวมถึงแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคและกลุ่มนักท่องเที่ยว
2. การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยต้องมีแผนธุรกิจการให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างเรื่องราว (Story) จุดดีและจุดเด่น (อัตลักษณ์ของสินค้า) ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าของเราได้
3. การแสวงหาช่องทางการตลาดเพิ่มเติม โดยการสร้างเครือข่ายของธุรกิจบนพื้นฐานความร่วมมือและการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงพัฒนาการสื่อสารด้านการตลาดผ่านสื่อสังคม Online เช่น Facebook, Line, Twitter เป็นต้น ซึ่งสามารถเข้าถึงลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายโดยใช้ต้นทุนที่ต่ำ บนพื้นฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค
นางสาวกาญจนา ทองเกษม ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานแผนและยุทธศาสตร์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว (ผลิตภัณฑ์คลัสเตอร์อาหาร) ภายใต้กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ในครั้งนี้ขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มศักยภาพ ผู้ประกอบการชุมชน ให้มีความพร้อมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามอัตลักษณ์เฉพาะของหมู่บ้าน ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้า ที่ระลึก อาหารพื้นถิ่น สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว สามารถสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในชุมชน
การดำเนินโครงการกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการใน 2 กิจกรรมคือ 1. ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 788 ราย/กลุ่ม แบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 6 รุ่น ดำเนินการระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2563 ณ สถานที่เอกชน จำนวน 5 แห่งที่ อิมแพค เมืองทองธานี, โรงแรมหรรษา เจบีหาดใหญ่จังหวัดสงขลา, โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัด สุราษฎร์ธานี, โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่, โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น
สำหรับการฝึกอบรมในวัน 19-20 ต.ค. 2563 เป็นรุ่นที่ 1 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 22 คน และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากจังหวัด 22 จังหวัด จำนวน 219 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 241 คน
2. กิจกรรมพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ ดำเนินการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 788 ผลิตภัณฑ์ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถซื้อกลับได้ง่าย สอดคล้องกับระบบการขายออนไลน์ และระบบขนส่งในปัจจุบัน สามารถแข่งขันในตลาดทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป
โดยตลอดระยะเวลาการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 2 วัน ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากวิทยากรภาครัฐและเอกชน ในการบรรยายและฝึกปฏิบัติใน 6 หัวข้อ คือ 1. กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ 2. กิจกรรมค้นหาสร้างสรรค์ 8 เสน่ห์วิถีชุมชน 3. กิจกรรมแนะแนววิธีค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ของกลุ่มเป้าหมาย 4. วิธีการประชาสัมพันธ์กลุ่มสินค้าใหม่ด้วยเสน่ห์วิถีชุมชน 5. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 6. การตลาดและการบรรจุภัณฑ์
No comments