Breaking News

สกสว. เดินหน้าขยายความร่วมมือหน่วยงานวิจัยประเทศญี่ปุ่น ‘เรียนรู้กลยุทธ์เร่งนวัตกรรม’

 

วันนี้ (16 กรกฎาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมออนไลน์ TSRI Seminar Series on International Research Collaboration Policy ครั้งที่ 2 “Research and Innovation Accelerator” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (NEDO: New Energy and Industrial Technology Development) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศญี่ปุ่น ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนการเร่งให้เกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ

รศ.ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ระหว่างประเทศ โดย สกสว. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้าน ววน. โดยการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการงบประมาณ นอกจากนี้ สกสว. ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาด้านการวิจัยระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้แนวทางการพัฒนาระบบ ววน. โดยโครงการ “TSRI Seminar Series on International Research Collaboration Policy” ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้าน ววน. กับต่างประเทศ รวมถึงเพื่อรับทราบทิศทางและนโยบายการพัฒนาด้าน ววน. ของประเทศเป้าหมาย ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ สกสว. จะได้เรียนรู้จาก NEDO ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในระดับนานาชาติ

Ms. YURUGI Yoshiko Asian Representative Office in Bangkok, NEDO กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้ประสบปัญหาวิกฤตทางด้านพลังงานครั้งใหญ่ถึงสองครั้ง ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญในการสรรหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมถึงค้นหาพลังงานทดแทน จากสาเหตุดังกล่าวจึงมีการก่อตั้ง NEDO ในปี พ.ศ. 2546 โดยมีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมพลังงาน โดย NEDO มีบุคลากรจากทั้งภาครัฐและภาคการศึกษารวมทั้งสิ้นกว่า 1,200 คน มีงบประมาณกว่า 160,000 ล้านเยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมา มีการจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อดำเนินงานตามเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาภาคพลังงานในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน 10 ปี โดยระหว่างนั้นก็จะมีการทดสอบและพัฒนา จนกระทั่งสามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้จริงในสังคม อย่างไรก็ตาม NEDO ถือเป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ที่ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัย (Funding Agency) ให้กับนักวิจัยโครงการต่าง ๆ ดังนั้น NEDO จึงเป็นกลไกกลางที่ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ในการทำงานร่วมกัน ภายใต้การออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม ซึ่ง NEDO จะให้การสนับสนุนทุนวิจัยทางด้านพลังงานคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของกองทุน โดยการรับข้อเสนอโครงการนั้นจะผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองตามขั้นตอนและมีคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายการพัฒนาจากทางภาครัฐ นอกจากนี้ NEDO ยังมีการก่อตั้งสาขานอกประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 17 สาขา รวมถึงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการดูแลสาขาต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยการทำงานนอกประเทศญี่ปุ่นนั้น จะมีแนวทางการดำเนินงานคือการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐบาลของประเทศนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการช่วยเหลือ การพัฒนาโครงการต่าง ๆ จนกระทั่งโครงการประสบความสำเร็จ

ดร. นุวงศ์ ชลคุป ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  แห่งชาติ (สวทช.) หนึ่งในนักวิจัยไทยที่เคยร่วมงานกับ NEDO ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมเปิดเผยว่า ในอดีตที่ผ่านมา สวทช. ได้มีความร่วมมือการทำงานร่วมกับ NEDO ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิจัยและพัฒนาในประเด็นเรื่องของ พลังงานทดแทนจากธรรมชาติหรือไบโอดีเซล (Biodiesel) จากปาล์มและพืชในท้องตลาดของประเทศไทย โดยมีบริษัทในประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการสำรวจความเป็นไปได้ของตลาดรวมถึงความสามารถในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยการวิจัยนั้นสามารถพัฒนาต่อยอดและรัฐบาลไทยนำมาขับเคลื่อนการใช้พลังงานไบโอดีเซลในท้องตลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากทั้งภาคนโยบาย หน่วยบริหารจัดการทุน รวมถึงนักวิจัยในระบบ ววน. ได้ร่วมเรียนรู้ประสบการณ์จาก NEDO ในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี และยังทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยมีการประเมินผลกระทบได้อย่างชัดเจน


No comments