Breaking News

สปส.พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เร่งขับเคลื่อนนโยบายปี 66 พัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด

   

 ในงานแถลงข่าวสรุปผลงานเด่น ปี 2565 เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พี่น้อง ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 ชิ้น และได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้ คือ


ชิ้นที่ 1 ให้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ย ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกันตน ในเรื่องของการมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยสำนักงานประกันสังคม ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด จากสถาบันการเงินอื่น รวมถึงเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับ ธอส. “โครงการสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน” วงเงินให้กู้สูงสุดตามจำนวนเงินต้นคงเหลือไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีที่ 1-5 เท่ากับ 1.99% ต่อปี

ชิ้นที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด สำนักงานประกันสังคม ได้พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค โดยร่วมกับสถานพยาบาลที่บันทึกข้อตกลงร่วมมือการให้บริการ จำนวน 10 แห่ง แบ่งตามกลุ่มบริการ 1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2. ผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก 3. ผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี 4. หัตถการโรคหลอดเลือดสมอง 5. หัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการติดตามและประเมินผลเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป

ชิ้นที่ 3 ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ซึ่งได้มีการ Kickoff โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ ในการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ผู้ประกันตนทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้ 1.เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ 2.แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย 3.โรงพยาบาลนัดหมายประเมิน เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน 4.ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะนำไปสู่ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย 

ชิ้นที่ 4 ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม ได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท) 

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 การพัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อเข้าถึงนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้นำ Social Media เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับสำนักงานประกันสังคมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการ เน้นการปรับเปลี่ยนราชการสู่ความเป็นดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน อย่างโปร่งใส เข้าถึงง่าย รวดเร็ว แม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถเชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานรัฐได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อพี่น้องประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย คล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมได้ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ได้คะแนน 90.24 อยู่ในระดับ A สร้างองค์กรที่เป็นสุขต้องสร้างความสมดุลให้ชีวิตทั้งการงาน ครอบครัว และสุขภาพ โดยการรักษาสมดุลในการบริหารงานและชีวิต Work Life Balance เปลี่ยนจากการทำงานหนัก บริหารชีวิตให้เหมาะสม รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย และรักษามาตรฐานการให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการ ของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) และให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยยึดหลักพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญ 



การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนในทุกมาตรา โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการเบ็ดเสร็จ (Service Delivery Unit) การรักษาอัตราการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ และประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกเครือข่าย บวร และ “ครอบครัวประกันสังคม” ทั่วประเทศให้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ไป-กลับ) เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีติดเชื้อโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน การติดตามเร่งรัดหนี้ เช่น เร่งรัดหนี้เงินสมทบ (ติดตามนายจ้าง) ปรับปรุงแนวปฏิบัติ และกระบวนการติดตามเร่งรัดหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ (ติดตามผู้ประกันตน) กำหนดตัวชี้วัดรายจังหวัด การพัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตั้งระบบเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 พัฒนาระบบบริการ ทางการแพทย์ พร้อมการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้ เรื่องการประกันสังคม และภาพลักษณ์องค์กรที่ตรงใจ กระชับ ฉับไว เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ 

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า “ผม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนงานประกันสังคมภายใต้แผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคม ในระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเชื่อมั่น ด้านการให้บริการประกันสังคมที่ทันสมัย” สามารถสร้างหลักประกัน ทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่มนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป”

No comments