วช. หนุน ม.นเรศวร วิจัยผ่าทางตันส่งออกมะม่วงยุคโควิด ขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ดันยอด 100 ตัน/สัปดาห์
ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ประมาณ 1,800 ตัน แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก เพราะไม่มีเที่ยวบินขนส่ง “โครงการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” เป็นแนวทางสำคัญที่จะระบายสินค้าในช่วงฤดูกาลผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ
ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “การวิิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” คณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วงและเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ แนวทางแรก คณะนักวิจััยได้ศึกษาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ทำให้ผู้ส่งออกสามารถขนส่งมะม่วงทางเรือได้ ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 10 วัน วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก แนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน
สำหรับแนวทางที่สองเป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศจะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน สมมติว่าต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินเป็น 3 ส่วน การขนส่งทางเรือด้วยห้องเย็นธรรมดามีต้นทุนแค่ 1 ส่วน ในขณะที่การขนส่งทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศจะเป็น 1.5 ส่วน เพราะฉะนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่ลูกค้าปลายทางยอมรับได้ และที่สำคัญสามารถส่งออกสินค้้าได้ในปริมาณมากๆ ด้วยวิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศ คาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่่า จากเดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 การขนส่งทางเครื่องบินจึงหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆ ได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการส่งออกของไทย
No comments