อว. นำนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ ส่งมอบ ศปก.ศบค. เพื่อรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งมอบ “นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ” นวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินการ โดยสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
วันนี้ 16 พฤษาคม 2564 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ส่งมอบ “นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ” จำนวน 140 เครื่อง เพื่อสนับสนุนภารกิจของศูนย์บริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลและหน่วยงานส่วนหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยมี พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นผู้รับมอบ พร้อมด้วย สถานีตำรวจภูธรท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี โดยพันตำรวจเอกอาริส คูประสิทธิรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรท่ามะกา โรงพยาบาลกลาง โดย นางสาวอภิรดี สุนันทตานนท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง และศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) โดยนางสาวอรุณี ทองดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เป็นผู้รับมอบนวัตกรรมฯ
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า การแก้ปัญหาและรับมือ สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อว. มอบ วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ดำเนินการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และ “นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ” จะเป็นประโยชน์ในการร่วมดูแลและป้องกันผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้าในการบริหารสถานการณ์โควิด-19
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญต่อการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ สนับสนุน ป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 มาร่วมบริหารสถานการณ์ การแพร่ระบาดและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ของ ศบค. เพื่อช่วยส่งเสริมมาตรการภาครัฐและมาตรการสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา วช. มีการบริหารทุนวิจัย และสนับสนุนงบประมาณพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน มีผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรมทยอยส่งมอบให้แก่หน่วยงาน สถาบันการแพทย์ โรงพยาบาล ฯลฯ และมีนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการบริหารสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (PAPRs), ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะชนิดมีพัดลมพร้อมชุดกรองอากาศ (PAPR), ระบบปัญญาประดิษฐ์ (ระบบเอไอ AiMASK) ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย, นวัตกรรมเครื่องพ่นละอองนาโนน้ำยาฆ่าเชื้อ, นวัตกรรม “แพลตฟอร์มหุ่นยนต์สำหรับงานทางการแพทย์และผู้สูงอายุ”, หน้ากากอนามัยชนิด KN95, หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากซิลิโคน ชนิด N 99, และนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศแบบผลิตออกซิเจน บวก-ลบ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาทดสอบประสิทธิภาพขึ้น ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ใช้การปล่อยประจุไอออน 2 ชนิด คือ ออกซิเจนบวก และ ออกซิเจนลบ เพื่อจะไปทำปฏิกิริยากับเซลล์หรืออนุภาคต่าง ๆ ของไวรัสและแบคทีเรียในอากาศ นอกจากนี้นวัตกรรมดังกล่าวยังทำให้อากาศบริสุทธิ์ สะอาด ป้องกันเชื้อโรค โดยใช้เทคโนโลยี Bipolar Ionizer Technology (BIT) ระบบ Corona System ปล่อยโคโรน่าเพื่อแยกโมเลกุล ออกซิเจน ออกเป็นออกซิเจนบวกและลบไปรวมกับ ไอน้ำ (H2O) ในอากาศ เกิดกลายเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) และไฮดรอกไซด์ (OH) ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งและทำลายเชื้อโรค ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น
No comments