Breaking News

EDUCATION FORUM พลิกโฉมการศึกษาไทยสู่ระดับโลก ผ่านแนวคิด“T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ” คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม

   กรุงเทพฯ 14 มีนาคม 2566 : The People สื่อออนไลน์นำสมัยที่นำเสนอเนื้อหาสร้างสรรค์ผ่านมุมมองของ “คน” ได้จัดงาน EDUCATION FORUM : T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ “การศึกษาไทยสู่ระดับโลก” โดยรวบรวมวิทยากรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาไทย มาร่วมระดมความคิดเห็นในการออกแบบรูปแบบการศึกษา เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และมีพลังในการขับเคลื่อนอนาคต ภายใต้แนวคิด "ปฏิรูปสู่ปฏิบัติ" เตรียมความพร้อมทรัพยากรมนุษย์ให้แข็งแกร่งเพื่อเป็น “ยุทธศาสตร์ในการกำหนดอนาคตของการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก" ณ Auditorium - True Digital Park พร้อมถ่ายทอดบรรยากาศงานผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจสามารถร่วมรับชมและรับฟังได้อย่างทั่วถึง

โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ เผยความรู้สึกถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ทั้งคน สังคม และชาติ แต่ว่าการศึกษารูปแบบใดที่จะเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน  จึงริเริ่มจัดงานเสวนา T-WAVE จาก ปฏิรูป สู่ ปฏิบัติ “การศึกษาไทยสู่ระดับโลก” ขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความตระหนักแก่สังคมไทยให้เชื่อมั่นในศักยภาพคนไทย และร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ที่ให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และก้าวข้ามปัญหาเรื่องการแบ่งแยก และนำมาสู่ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญไปที่ Thai / Tech / Teen มีเป้าหมายที่จะ ยกระดับคนไทยไปสู่การเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของโลก นั้นคือ T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม ผ่านองค์ประกอบคือ

THAI  หมายถึง คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ศักยภาพคนไทย ไม่ด้อยไปกว่าชนชาติอื่น ชวนคนไทยเก่งๆระดับมืออาชีพมาร่วมแบ่งปันนประสบการณ์ความรู้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนไทย สร้างค่านิยมที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย แต่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง

TECH หมายถึง ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนความรู้ การศึกษาถูกทลายกรอบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ดังนั้น เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ และพัฒนาให้คนไทยพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ

TEEN  หมายถึง พัฒนาเด็กไทยให้เต็มศักยภาพ การศึกษาวันนี้จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นเราต้องเข้าใจความต้องการของเด็กๆ และปรับให้การศึกษา ตอบรับกับอนาคตของเยาวชนที่จะโตมาเป็นแรงงานของชาติต่อไป ร่วมกันสร้างโอกาสให้แก่เด็กไทยสู่พลเมืองชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเป็นหมุดหมายแรกของการสร้างกระแส T-WAVE ไทยนิยม ให้เกิดขึ้นได้จริง และจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพคนไทย และชาติไทยได้อย่างยั่งยืนครับ”

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ภายในงานเสวนายังได้รับเกียรติจาก ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานเสวนาฯ พร้อมแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาในการสร้างกระแส T-Wave ไทยนิยม รวมถึงวิทยากรที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาไทย และตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งให้เกียรติมาร่วมระดมความคิดเห็น แบ่งปันประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการออกแบบการศึกษาในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านระบบการศึกษา ด้านเทคโนโลยี หรือด้านทรัพยากรมนุษย์ สำหรับใช้เตรียมความพร้อมให้เด็กไทยรุ่นใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างพลังขับเคลื่อนอนาคต ภายใต้แนวคิด "ปฏิรูปสู่การปฏิบัติ" เพื่อเป็น “ยุทธศาสตร์ในการกำหนดอนาคตของการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก" และยังใช้การศึกษาเพื่อเป็นสารตั้งต้นในการสร้างคนเก่ง ซึ่งคนเก่งเหล่านี้จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย จนสามารถจุดกระแส T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยมให้เกิดขึ้นได้ในระดับโลก


รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์

สำหรับการพูดคุยบนเวที Solo Talk : T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยม กับทิศทางอนาคตการศึกษาไทย หัวข้อ THAI รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวถึงการศึกษาว่าเป็นกุญแจในการสร้างคน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ประเทศโดดเด่นในทุกเรื่อง จึงต้องเสริมทักษะในด้านต่าง ๆ อาทิ  ทักษะฝีมือ ภูมิปัญญา และคุณธรรม รวมถึงด้านเทคโนโลยี การเงิน ภาษา ไปจนถึงทักษะการวิเคราะห์ แก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นผู้นำ

คุณโอชวิน จิรโสตติกุล

ใน หัวข้อ TECH คุณโอชวิน จิรโสตติกุล มองว่า จุดเริ่มของการเลือกว่าจะศึกษาสิ่งใด ต้องประเมินจาก 3 แกนหลัก ได้แก่  ความถนัดของตัวเอง, ตลาดงานในปัจจุบัน และทิศทางในอนาคต ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องเรียนจบแล้วทำงานไม่ตรงสายที่เรียนมา หรือเปลี่ยนงานบ่อย จึงชวนตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่รู้ตัวว่าชอบหรือถนัดอะไร เพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีได้


คุณวทันยา อมตานนท์

สำหรับหัวข้อ TEEN คุณวทันยา อมตานนท์ เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองในฐานะคนที่ไม่ได้ทำงานตามสิ่งที่ตนเองจบมาโดยตรงตั้งแต่แรก และชวนตั้งคำถามถึงระบบการศึกษา โดยมองว่า ทุกคนควรได้ค้นหาในสิ่งที่แต่ละคนชอบมากกว่านี้ พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เร็วและง่ายที่สุดคือ ‘การฝึกงาน’ โดยรัฐบาล, มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจต้องช่วยกันเปิดกว้างเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาตัวเองมากขึ้น

ส่วนหัวข้อ Future of T-WAVE : องค์ประกอบที่สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาการศึกษาไทยสู่ระดับโลกวิทยากร ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวถึงสิ่งที่อยากผลักดันให้เกิดขึ้น คือการหนุนให้เด็กไทยเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเต็มที่ เด็กไทยต้องได้เรียนระดับปริญญาตรีฟรี เพราะตลาดแรงงานที่ยังต้องการกำลังคนสูง และยังต้องการคนที่มีทักษะที่สูงเช่นเดียวกัน ซึ่งศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ย้ำว่า T-WAVE คือทางรอด โดยเปลี่ยนแปลงให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และตั้งเป้าให้คนไทยก้าวสู่พลเมืองชั้นหนึ่งให้ได้ ซึ่งคนไทยต้องเชื่อมั่นและสนับสนุนไทยนิยม ประเทศไทยถึงจะอยู่รอด

ขณะที่เวที Panel Discussion “ปฏิรูปสู่ปฏิบัติ” สร้างความทัดเทียมทางการเรียนรู้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้คนไทยสู่เวทีโลกระดมแนวคิดดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้กัน นำโดยวิทยากร

-รศ.ดร.เอกนฤน  บางท่าไม้ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร   

-ดร.นิพัทธ์  รัศมีโกเมน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พีทีที เรส 

-พงศ์สุข  หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด

-ศ.ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ ประธานการศึกษาทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์

วิทยากรที่ร่วมในเวที Panel Discussion เห็นตรงกันว่า TECH (เทคโนโลยี) จะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการศึกษาได้จริง ปลดล็อกข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ที่ระบบการศึกษากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเชิงบุคลากร ไปจนถึงเรื่องงบประมาณ และหากจะเปลี่ยนแปลงต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง จัดการระบบการศึกษาให้กระชับ ผลิตคนออกมาให้ทันความต้องการ 

นอกจากนี้ ทุกคนยังเชื่อว่า คนไทยมีศักยภาพในระดับโลก หากพูดถึงการพัฒนาในระยะสั้น ควรผลักดันคนให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยให้มากที่สุด สนับสนุนให้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อเปลี่ยนจากแรงงานทักษะไม่สูงเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง การศึกษาทุกวันนี้หมดเวลาปฏิรูป และถึงเวลาปฏิบัติจริง อีกทั้งยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมให้พิจารณาเรื่องปฏิเสธองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นในระบบการศึกษา โดยอาจต้องเลือกสิ่งที่จะทำ และทำในสิ่งที่จำเป็นในทันที

ศ.ดร. สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าทุกคนเริ่มกระตุกคนละมือ กระแส T-WAVE จะเกิดเป็นค่านิยมขึ้นมา และกลับมาสนับสนุนคนไทยที่มีความสามารถ ผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ถึงฝัน และเชื่อว่าวันที่คนไทยเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของโลกจะเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

การจัดงานครั้งนี้จะทำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนและยกระดับระบบการศึกษาไทย ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน เพื่อให้การศึกษาสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทยได้ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และหากจะให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ พวกเขาต้องก้าวนำโลกในฐานะคลื่นลูกใหม่ ผู้สร้างกระแส T-WAVE ไทยนิยม

No comments