สวทช. จัดงาน NAC2023 โชว์ขุมพลังวิจัย เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG จัดยิ่งใหญ่ 28-31 มี.ค.นี้ อุทยานวิทย์ฯ จ.ปทุมธานี
(1 มีนาคม 2566) ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.): ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. พร้อมด้วย ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. นำทีมนักวิจัย สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร โดยมี ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ร่วมเป็นเกียรติในงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” (NSTDA: STI powerhouse to drive BCG economy for Thailand's sustainable development) โดยจัดออนไซต์เต็มรูปแบบที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคมนี้
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. แถลงว่า ปีนี้ สวทช. จัดงาน NAC2023 ขึ้นเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ต่อสาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของนักวิจัยไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วย วทน. ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันต่อสถานการณ์โลกอยู่เสมอ โดยในปี 2566 นี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ดังนั้นปีนี้การประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ถือเป็นการกลับมาจัดแบบออนไซต์เต็มรูปแบบอีกครั้ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้สัมผัสขุมพลังด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ สวทช. และพันธมิตร ร่วมกันจัดแสดงให้ชมตลอด 4 วันเต็ม เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศทุกวัย ได้เข้าไปหาความรู้ อัปเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงการนำผลงานวิจัยของ สวทช. ไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ
“ที่สำคัญในพิธีเปิดงาน NAC2023 วันที่ 28 มีนาคม 2566 สวทช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT ตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกาเป็นต้นไป”
ศาสตราจารย์ดร.ชูกิจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามด้วยธีมการจัดงานปีนี้ คือ สวทช. ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน ดังนั้นในปีนี้ สวทช. และพันธมิตร มีตัวอย่างความสำเร็จจากการขับเคลื่อน BCG ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในเชิงงานวิจัย อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการเพาะเลี้ยงและการผลิตสัตว์น้ำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่นำแนวคิด BCG Economy Model ไปปรับใช้ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจาก “มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี”
“สำหรับตัวอย่างผลงานเด่นที่ สวทช. ขับเคลื่อนนโยบาย BCG ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และตอบโจทย์ BCG สาขาต่าง ๆ และนำผลงานวิจัยเด่น มาโชว์วันนี้ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร เช่น นวัตกรรมสเปรย์เติมความ “สด” ให้พืช ตอบโจทย์ธุรกิจส่งออกพืชเมืองหนาว ด้านสุขภาพและการแพทย์ เช่น เทคโนโลยีชุด Exosuit ช่วยในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บสำหรับผู้สูงอายุ ด้านพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคม สีเขียว และ ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น Sontana สนทนา (AI Chatbot) เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ”
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการนำงานวิจัยไปขับเคลื่อนโมเดล BCG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศแล้ว เรื่องของการขับเคลื่อนงานวิจัย NSTDA Core Business ตรงนี้ ก็จะเป็น 1 ในไฮไลต์ของงาน NAC2023 ด้วย โดย สวทช.เปิดกลยุทธ์ NSTDA Core Business นำพลังวิจัย รับใช้สังคมและได้คัดเลือกงานวิจัยที่เป็นความเชี่ยวชาญและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมี 4 เรื่องหลัก คือ 1.Traffy Fondue แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง 2.Digital Healthcare Platform แพลตฟอร์มแก้ปัญหาการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศ 3.FoodSERP แพลตฟอร์มให้บริการผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มสารให้ประโยชน์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient) ในรูปแบบ One stop service และ 4.Thailand i4.0 Platform แพลตฟอร์มให้บริการ Digital Transformation สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตแบบครบวงจร
ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน NAC2023 ในปีนี้จัดออนไซต์เต็มรูปแบบหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสเต็มอิ่มกับเนื้อหาสาระที่ สวทช. เตรียมมานำเสนอ โดยเฉพาะหัวข้อการสัมมนาที่มีมากถึง 40 หัวข้อ ตัวอย่าง เช่น พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCGการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยาไทยหลังโควิด
นอกจากนี้ที่สำคัญคือนิทรรศการกว่า 70 ผลงาน ประกอบด้วยโซน 6 โซน ได้แก่ 1. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ 2. NSTDA Core business 3. BCG Economy Model แบ่งเป็น 4 กลุ่มได้แก่ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4. วทน.ยกระดับคุณภาพชีวิต 5. ระบบบริการโดย สวทช. และ 6. เทคโนโลยีพร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยในนิทรรศการแต่ละเรื่องจะมีนักวิจัยเจ้าของผลงานมานำเสนองานวิจัยเพื่อตอบทุกข้อคำถามของผู้เข้าร่วมงานที่สนใจช้อปปิ้งงานวิจัย หรือสนใจรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ชมฟรีตลอดงานทั้ง 4 วัน
ดร.วรรณพ กล่าวว่า อีกกิจกรรมที่น่าสนใจคือ Open House หรือการเปิดบ้านให้ผู้ประกอบการ และ นักลงทุนได้เยี่ยมชมจากการนําเสนอเทคโนโลยีจากความชำนาญของห้องปฏิบัติการชั้นนำ โดย สวทช. และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุน ที่มีความสนใจ ได้เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการ สวทช. ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ที่จะเป็นตัวช่วยให้การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มศักยภาพและกำไรให้กับธุรกิจ
“หากท่านคือ นักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุนที่มีความสนใจพัฒนาและลงทุนธุรกิจเทคโนโลยี ที่กำลังมองหาโอกาส แรงบันดาลใจ พันธมิตร และโซลูชั่นสำหรับธุรกิจของท่านขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม Open house ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัด เพียง 3 วันคือ 29-31 มีนาคมเท่านั้น ดังนั้นสำรวจตัวเองว่าท่านอยากจะพลิกโฉมธุรกิจของท่านไปในทางไหน กิจกรรมนี้จะเป็นตัวช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ดีขึ้นโดยนักวิจัยที่เชี่ยวชาญเฉพาะมาให้ข้อมูลแบบจัดเต็มนอกจากนี้ สายชอปปิงห้ามพลาด NAC Market 2023 ตลาดนัดจำหน่ายสินค้านวัตกรรมจากงานวิจัย สินค้าชุมชน จากเครือข่าย สวทช. รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ในราคาพิเศษสำหรับผู้มาร่วมงานนี้เท่านั้น ซึ่งตลาดนัดสินค้านวัตกรรมจัดเพียง 3 วัน คือ 29-31 มีนาคมเช่นกัน
ดร.วรรณพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกิจกรรม ‘R&D Pitching’ จะจัดใน 2 วันคือ วันที่ 29-30 มีนาคม ซึ่งจะได้พบกับการนำเสนองานวิจัยและแอดวานซ์เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม (Advanced Technology Platform) ที่พร้อมร่วมมือต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมกับภาคอุตสาหกรรมใน 4 กลุ่ม ครอบคลุม Food Technology, Advanced Biotechnology, Digital 4.0 Plus และ Cosmetic Technology อาทิ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพสร้าง value added ให้กับ waste ที่ได้จากกระบวนการผลิตต่าง ๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การผลิตโรงงานเสมือน (Cell Factory) ที่ใช้จุลินทรีย์ในการผลิตสารชีวภาพมูลค่าสูง เพื่อการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง พลังงาน เป็นต้น
การจัดงานครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมกิจกรรมการนำเสนอจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจ (business matching) ในหัวข้อที่สนใจจะพัฒนาความร่วมมือ ดังนั้นนอกจากได้เติมความรู้แล้วยังได้สัมผัสงานวิจัยของจริง พร้อมกับแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิจัยเจ้าของผลงานอย่างใกล้ชิดด้วย
28-31 มีนาคมนี้ NAC2023 ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18(18th NSTDA Annual Conference: NAC2023) ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน” ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ดูไฮไลต์ที่น่าสนใจและลงทะเบียนร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ www.nstda.or.th/nac หรือโทรศัพท์ 02564 8000
No comments