Breaking News

5 นักวิจัย สทน. ซิวรางวัลระดับนานาชาติ จากงาน Malaysia Technology Expo 2023 เบสท์ทูซอร์บ นวัตกรรมตัวดูดซับสำหรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และ แกมกัน วัสดุกันกระแทกปลอดเชื้อจากผักตบชวา ได้รับรางวัลเหรียญทอง

   ​ตามที่ประเทศมาเลเซียได้มีการจัด Malaysia Technology Expo 2023 (MTE2023) โดยนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดย สทน.ได้รับรางวัล รางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติปี 2023 จำนวน 6 รางวัลจากผลงานที่เข้าประกวดจำนวน 5 ผลงาน

​รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน.เปิดเผยว่า ตามที่นักวิจัยของ สทน.ได้ส่งผลงานเข้าประกวดในการงาน Malaysia Technology Expo 2023 เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา จากผลงาน 5 ผลงานที่ ฝ่ายเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน.ส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 2 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน 2 ผลงาน และรางวัลเหรียญทองแดง 1 ผลงาน และ 1 ใน 5 ผลงานนี้ยังได้รับรางวัล SPECIAL AWARD WINNER จาก สมาคม CHINESE INNOVATION AND INVENTION SOCIETY (CIIS) TAIWAN ในสาขา HEALTHCARE, PERSONAL CARE TECHNOLOGY, BIOTECHNOLOGY AND LIFE SCIENCES อีกด้วย ถือเป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยรุ่นใหม่ของ สทน. โดยเป็นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จนได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับนานาชาติ ถือเป็นความภาคภูมิใจของ สทน.และประเทศไทยเป็นอย่างมาก

สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง 2 รางวัล ผลงานแรกได้แก่ แกมกัน : วัสดุกันกระแทกปลอดเชื้อจากผักตบชวา มี ดร.ธนกร แสงทวีสิน เป็นหัวหน้าโครงการ Gum-Gun cushion คือ วัสดุกระแทกปลอดเชื้อจากการใช้นวัตกรรมการฉายรังสีแกมมา ดีต่อคน ดีต่อโรค และดีต่อชุมชน ก้านผักตบชวากันกระแทกผ่านการฉายรังสีแกมมาเพื่อจำกัด แบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อรา และไข่แมลงที่เป็นพิษต่อคนและสัตว์ นอกจากนี้ทางนักวิจัยพัฒนากันกระแทกชะลอสุกโดยการเจืออนุภาคเงินพร้อมทั้งฉายรังสี จึงสามารถสร้างผักตบชวากันกระแทกที่มีฟังก์ชั่นการชะลอสุกของผลไม้พร้อมไปด้วย โดยอนุภาคเงินเปลี่ยนก๊าซเอทิลีนเปลี่ยนเป็นเอทิลีนออกไซด์ จึงสามารถชะลอการสุกงอมของผลไม้ ด้วยวิธีนี้ช่วยยืดอายุความสดของผักและผลไม้ ยกระดับผักตบชวาจากขยะสู่วัสดุกันกระแทก สร้างรายได้สู่ชุมชน และลดการใช้พลาสติกกันแทก 

ผลงานที่ 2 ได้แก่ เบสท์ทูซอร์บ: นวัตกรรมตัวดูดซับสำหรับใช้ในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มี ดร.ฐิติรัตน์ รัตนวงษ์วิบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ งานวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นที่จะพัฒนานวัตกรรมตัวดูดซับที่ชื่อว่า เพื่อใช้ในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ โดยการพัฒนาจะเริ่ม จากการสกัดเซลลูโลสจากชานอ้อย ที่เป็นวัสดุที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตร โดยผ่านการใช้เทคโนโลยีการฉายรังสี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด ปลอดภัย จากนั้นนำเซลลูโลสที่สกัดได้มาผสมกับพอลิเมอร์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติแล้วนำมาฉายรังสีอีกครั้งเพื่อขึ้นรูปเป็นตัวดูดซับ  ภายหลังการทดสอบในห้องปฏิบัติการวิจัยพบว่า นวัตกรรมตัวดูดซับ “BEST 2 SORB” เพื่อใช้ในผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ คือ (1) มีอัตปราการดูดซับที่รวดเร็ว โดย สามารถดูดซับได้ไวถึง 20 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมง (2) ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนัง L929 โดยมีร้อยละการรอดชีวิตของเซลล์ผิวหนัง L929 มากกว่าร้อยละ 80 เมื่อทดสอบกับตัวอย่างที่ความเข้มข้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5,000 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และ (3) มีอัตราการย่อยสลายในดินที่รวดเร็ว โดย สามารถย่อยสลายในดินได้ถึงร้อยละ 60 ของวัสดุ ภายหลังจากการฝังกลบไปเป็นเวลา 6 เดือน ดังนั้น นวัตกรรมตัวดูดซับ “BEST 2 SORB” จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะผ้าอ้อมที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เป็นอย่างดี  และผลงานนี้ยังได้รับรางวัลพิเศษ SPECIAL AWARD WINNER จาก สมาคม CHINESE INNOVATION AND INVENTION SOCIETY (CIIS) TAIWAN อีกด้วย

สำหรับ 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินได้แก่ ไดซอร์เบอร์ ตัวดูดซับสีย้อมที่ผลิตจากไดอะตอมไมต์ (DiaSorbeō) โดยมี ดร.วิลาสินี  กิ่งก้ำ เป็นหัวหน้าโครงการ ผลิตภัณฑ์นี้มีลักษณะเป็นเม็ดบีดส์ไฮโดรเจลที่ผลิตจากไดอะตอมไมต์ ที่เป็นวัสดุที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำและหาได้ง่ายภายในประเทศ มาประยุกต์ใช้เป็นตัวดูดซับสีย้อมในโรงงานอุตสาหกรรมสีฟอกย้อม เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางนํ้าจากโรงงานอุตสาหกรรม มีความสามารถในการดูดซับน้ำเสียสังเคราะห์จากสีย้อมที่ความเข้มข้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 95% ภายในระยะเวลา 24 ชม. 

และผลงานเหรียญเงินอีกผลงานได้แก่ โอ้โกลด์ฟอร์ไลฟ์ ตัวนำส่งนาโนอัจฉริยะ เป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ของนาโนไฮบริดทองคำที่ทำงานหลากหลายฟังก์ชันสำหรับการรักษามะเร็งอย่างทรงประสิทธิภาพ โดยมี ดร.ศักดิ์ชัย หลักสี่ เป็นหัวหน้าโครงการ OhGold4Life เป็นแพลตฟอร์มของระบบนำส่งยาต้านมะเร็งที่สังเคราะห์ได้จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นกระบวนการที่ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากผลการทดลองพบว่า OhGold4Life สามารถนำส่งยาต้านมะเร็ง Camptothecin (CPT) และเพิ่มความสามารถในการยับยั้งเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์สูงกว่า CPT เพียงอย่างเดียวถึง 2.82 เท่า เป็นระบบนำส่งยาต้านมะเร็งที่ทรงประสิทธิภาพที่ช่วยบำบัดและรักษาโรคมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีทางเลือกในการรักษามากขึ้นและยังช่วยยกคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย และรางวัลเหรียญทองแดงได้แก่ I.C meat packaging film: ฟิล์มบรรจุภัณฑ์บ่งชี้ความสดใหม่สำหรับบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลงานชิ้นนี้จัดเป็นผลงานไอเดียเชิงนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต” ทีมผู้วิจัยได้มีแนวคิดในการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ชีวภาพสำหรับบรรจุเนื้อสัตว์ที่มีสมบัติในการรักษา คุณภาพ และยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้ดีรวมทั้งช่วยบ่งชี้ความสดใหม่ของเนื้อสัตว์ด้วยการเปลี่ยนสีของแผ่นฟิมล์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และความสะดวกให้กับผู้บริโภค

ผลงานวิจัยทั้ง 5 รายการนี้ สทน.มีแผนการที่จะพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ หากท่านสนใจผลงานวิจัย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร 02 4019889

No comments