รัฐบาลหนุนสถาบันการสร้างชาติพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย เน้นสร้างคนเป็นศูนย์กลาง สู่การสร้างชาติที่ยั่งยืน
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มอบหมายนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ (ICNB) ครั้งที่ 7 (The International Conference on Nation-Building (ICNB) 2023) "การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อการสร้างชาติ” จัดโดยสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ, สถาบันการสร้างชาติประเทศไทย, ประเทศมาเลเซีย, สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา, สถาบันอนาคตเอเชีย (เกาหลี) และสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม คอมพัส แคมพัส บางนา-ตราด ซึ่งมีตัวแทนกว่า 70 ประเทศ ส่งผู้แทนเป็นผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ ผู้แทนของ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ทั้งออนไซต์และออนไลน์
โดยนายจุติ กล่าวว่า ตลอด 4 ปีรัฐบาลได้ พัฒนาทุนมนุษย์คนทุกช่วงวัย พยายามให้ประชาชนพึ่งตนเองและมีความสุข การจัดประชุมครั้งนี้ถือว่าสอดคล้องในการทำงานของรัฐบาล และจะเชิญบุคลากรจากสถาบันนี้ไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกันแลกเปลี่ยนความคิด ประเทศไทยต้องพัฒนาคนได้รับความคิดใหม่ สิ่งใหม่ที่ทันสมัย ตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ ที่ให้แนวทางว่าจะต้องปรับและพัฒนาเด็กไทย เยาวชนไทยให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 “สิ่งที่เป็นอุปสรรคคือมีความคิดที่แตกแยกออกเป็นสองฝ่าย คนไทยจึงต้องรักและสามัคคีกัน อยู่ด้วยความแตกต่างและไปด้วยกันให้ได้ วันนี้สติต้องอยู่เหนือปรากฏการณ์ คุณธรรมต้องอยู่เหนือเทคโนโลยี” นายจุติ ย้ำ
ขณะที่ ศาตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ หรือ ดร.แดน นักวิชาการอาวุโส มหาวิยาลัยฮาร์วาร์ด และประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Human-Centred Development for Nation-Building” “การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อการสร้างชาติ จึงคำนึงถึงมนุษย์ในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย ปัจจัยนำเข้า กระบวนพัฒนา จนกระทั่งผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา เรียกได้ว่า เป็นการพัฒนาด้วยมนุษย์ (Development with Human) การพัฒนาโดยมนุษย์ (Development by Human) และการพัฒนาเพื่อมนุษย์ (Development for Human)”
ดร.แดน เสนอว่า การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลางเพื่อการสร้างชาตินั้น ต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ตรงกันถึงห่วงโซ่การพัฒนาว่า คนเป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ที่สำคัญ การสร้างชาติควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ การขยายทรัพยากรมนุษย์ โดยการเพิ่มอัตราการเกิด เพิ่มอายุขัย พัฒนาสุขภาพ รวมถึงดึงดูดคนที่มีคุณภาพให้เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย และการเพิ่มทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นสินทรัพย์หรือพลังเอกอุของการพัฒนาในยุคสังคมความรู้และปัญญา รวมทั้งการพัฒนาคนไปจนสุดศักยภาพ เพื่อเพิ่มทุนสำรองของการพัฒนา และทำให้การสร้างชาติดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
ในส่วนของกระบวนการพัฒนา ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ อธิบายว่า ในท่ามกลางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านต่าง ๆ มากมาย ยุทธศาสตร์ที่เป็นคานงัดของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง คือ การศึกษา เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ การพัฒนาจึงควรให้น้ำหนักกับการบูรณาการการศึกษาเข้ากับเป้าหมายการสร้างชาติ และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อเพิ่มสมรรถนะมนุษย์ทุกด้าน ทั้งความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต รวมทั้งการพัฒนาครบระบอบมนุษย์ (Human Order) คือ กาย ใจ และจิต เพื่อสร้างคนดี เก่ง กล้า ที่มีจิตเป็นประธานขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ ในกระบวนการพัฒนายังต้องสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพัฒนา คือ การสร้างสันติสภาพ (Human Peace) เพื่อเอื้อให้เกิดการประสานพลังของมนุษย์ เป็นพลังทวีคูณของการพัฒนาเพื่อการสร้างชาติ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนา คือ มนุษย์มีสุขสภาพ (Human Wellness) รวมทั้งเกิดความสุขกาย สุขใจ สุขจิต จนความสุขมนุษย์ (Human Happiness) เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง
No comments