Breaking News

สกสว. เสนอนัยสำคัญเชิงนโยบายจากการศึกษาการเปลี่ยนแปลง 7 อุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด-19

 วันนี้ (7 เมษายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมรายงานผลการศึกษาโครงการ การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด-19 (Industrial Transformation after COVID 19) เพื่อเป็นองค์ความรู้ สถานการณ์ด้านวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. 2566-2570

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. บอกว่า สกสว. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจาการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นวิกฤตทางด้านสาธารณสุขที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษและได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทางตรงเกือบทุกประเทศของโลก พร้อมกับโอกาสและความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดบรรเทาและระบบเศรษฐกิจโลกกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง (Re-opening) โดยขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ 7 ภาค ประกอบด้วยอุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม โรงแรม ยา และเครื่องมือแพทย์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ด้าน ววน. ของประเทศ และเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนด้าน ววน. พ.ศ.2566-2570

ทางด้าน อาจารย์ เพ็ชรธรินทร์ วงศ์เจริญ ทีมวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แม้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรงและทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงปรับตัวด้วยการลดกำลังผลิต การลดชั่วโมงทำงาน และปลดคนงานชั่วคราว ความรุนแรงของผลกระทบเกิดขึ้นในทุกส่วนของซัพพลายเชนไม่ว่าบริษัทรถยนต์ อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนคลายมาตการ lockdown ความต้องการซื้อรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วจากเดิมที่คาดว่ายอดการผลิตในปี พ.ศ. 2563 เหลือเพียง 0.5-0.7 ล้านคันเพิ่มเป็น 1.5 -1.7 ล้านคัน จนถึงกันยายน พ.ศ. 2563 คาดว่าเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ประกอบกับกลุ่มผู้มีรายได้หันมาจัยจ่ายช่วงลดภาษี วิกฤตโควิด-19 ยังไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซัพพลายเชนอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นเพียงบางชิ้นส่วนที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเล็กน้อย

กระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 คือ การตื่นตัวให้ไปผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาบภายในซึ่งกำลังลดบทบาทความสำคัญลง สำหรับไทยที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องสันดาบที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ความท้าทายที่สำคัญ คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นมีความเสียหายต่ำที่สุด โดยเปิดกว้างในทางเลือกของพลังงานโดยยึดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายสุดท้ายแทนการตีกรอบที่พลังงานประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ ในขณะที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนแข่งขันกันในการนำเสนอทางเลือกกับผู้บริโภค พร้อม ๆ กับการเตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่าน นอกจากนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งสามารถทำได้ในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเดินหน้านำเอาระบบ e-Government และ/หรือเอาเทคโนโลยี Digital เข้ามาช่วยลดความล่าช้าและความซ้ำซ้อนในระบบราชการโดยเฉพาะในเรื่องการรับรองมาตรฐานด้านต่าง ๆ

นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังได้ศึกษาครอบคลุมภาคการผลิตที่สำคัญ 7 ภาค พบนัยสำคัญเชิงนโยบายจากการศึกษา คือ วันนี้โลกเริ่มมีความชัดเจนทางด้านวัคซีนต่อต้านโควิด-19 การดำเนินนโยบายควรเกลี่ยความสำคัญจากเดิมทุ่มไปที่การเยียวยาและการกระตุ้นให้ผู้บริโภคในประเทศจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม มาสู่การฟื้นฟูที่เป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตในระยะปานกลางและระยะยาว และตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตซึ่งหลากหลายไปตามแต่ละภาคการผลิต เรื่องดังกล่าวควรมีนโยบายในระดับภาคการผลิตเพื่อให้ไทยตักตวงโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตได้อย่างเต็มที่และลดความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19


No comments