ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น 7.8 แสนคน และต่อเนื่อง
สกสว.จัดรายงาน ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 พบ ผลกระทบทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น 7.8 แสนคน ในปี 63 และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เสนอรัฐออกนโยบาย new normal ที่มองไปข้างหน้า
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลไกการรับมือ มาตรการช่วยเหลือ และวางแผนระยะยาว โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ รศ.ดร.นพ. พงศกร ตันติลีปิกร พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น
โอกาสนี้ ดร. สมชัย จิตสุชน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในฐานะผู้ศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลไกการรับมือ มาตรการช่วยเหลือ และวางแผนระยะยาว อธิบายว่า งานวิจัยในโครงการนี้ทำการศึกษา วิเคราะห์ ผลกระทบทางสังคม เช่นผลต่อความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบต่อประชาชนโดยเน้นไปที่กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กและเยาวชน ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยติดเตียง แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้บ้าน รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ทั้งในภาพรวมและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแต่ละกลุ่มเปราะบาง
สำหรับผลกระทบต่อการจ้างงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ดำเนินการประมวลผลพบว่า อัตราการว่างงานในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.03 ของกำลังแรงงาน หรือประมาณ 4 แสนคนใน ไตรมาส 1 สู่ร้อยละ 1.97 หรือประมาณ 7 แสนคนในไตรมาส 2 แม้อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากไตรมาส 1 แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก สาเหตุเพราะในช่วงแรกยังมีการชะลอการเลิกจ้างและใช้วิธีลดชั่วโมงการทำงานแทน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้นิยามจำนวนผู้เสมือนการว่างงานว่า เป็นผู้มีงานทำแต่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ที่ได้นำผลของการลดชั่วโมงการทำงานเข้าไปในการคำนวณด้วยแล้ว ในไตรมาส 2 จำนวนผู้เสมือนว่างงานอยู่ในระดับสูงถึง 5.4 ล้านคน (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2563) โดยเมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของแรงงานพบว่า ชั่วโมงการทำงาน เฉลี่ยของแรงงานเพศชายและหญิงลดลงจาก 41 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาส 1 มาเป็น39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับปกติ
ผลจากรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้ประชาชนมีความยากจนเพิ่มขึ้น โดย World Bank คาดการณ์ว่า คนจนในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 7.8 แสนคน ในปี 2563 การแพร่ระบาดที่ยาวนานหลายระลอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระลอก 3 นี้ จะทำให้คนจนเพิ่มมากขึ้นไปอีกจำนวนหนึ่ง จากกลุ่มแรงงานที่อายุมากกว่า 40 ปีการศึกษาต่ำ เพราะขาดทักษะการใช้เทคโนโลยี และมีความสามารถในการรับมือ และการปรับตัวที่น้อยกว่าคนทั่วไป ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นในระยะยาว เนื่องจากระดับการแข่งขันในตลาดลดลง เกิดแผลเป็นทางการศึกษาโดยเฉพาะกับประชากรกลุ่มล่าง กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เกิดแผลเป็นขึ้น ครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางติดกับดักหนี้ครัวเรือนมากขึ้นและลึกขึ้น และวิกฤตครั้งนี้ยังเร่งการมาของ Disruptive Technology ด้วย
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวมมีทั้งส่วนที่ควรทำระหว่างการระบาด และ การเตรียมตัวสำหรับ new normal ที่มองไปข้างหน้า ในส่วนแรกรัฐบาลควรเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมในเชิงลึกและกว้างต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบต่อพวกเขา เพื่อให้สามารถปรับมาตรการช่วยเหลือให้ ตรงจุดมากขึ้น ควรมีการช่วยเหลือที่หลากหลายมากกว่าเพียงการให้เงิน ต้องป้องกันการตกหล่นกลุ่มเปราะบาง โดยใช้กลไกทุกอย่างในการเข้าถึง รัฐบาลควรพิจารณาฉีดวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางเร็วกว่าประชาชนทั่วไปเพื่อ ป้องกันผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและเพิ่มศักยภาพในการดูแลตัวเอง ในส่วนการส่งเสริมการเข้าสู่ new normal ควรมีการเพิ่มศักยภาพของกลุ่มเปราะบางให้สามารถยืนหยัดได้ดีขึ้นในโลกยุคหลังโควิด ไม่ว่าจะเป็นการเสริมทักษะที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีให้พวกเขามีส่วนร่วมในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.นพ. พงศกร ตันติลีปิกร กล่าวว่า นอกจากการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคมที่คำนึงถึงการได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องและรุนแรงของกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มใด ที่จะกลายเป็นแผลเป็นจากการระบาด โดยครอบคลุมทั้งการสร้างตาข่ายทางสังคม ระบบประกันสังคม ความช่วยเหลือทางสังคมแล้ว การศึกษาครั้งนี้น่าจะระบุให้ชัดเลยว่า รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยา หรือ ช่วยเหลือแต่ละกลุ่มเท่าไรจึงจะเพียงพอ โดยรายงานได้เสนอข้อเสนอแนะจำเพาะสำหรับแต่ละกลุ่มเปราะบางไว้ค่อนข้างมาก ตัวอย่างเช่นการ ปรับปรุงการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับเด็กเล็กและเยาวชน การปรับปรุงระบบการดูแลระยะยาว (long- term care) สำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง การดูแลสุขภาพจิตผ่านระบบแพทย์ทางไกลในภาวะวิกฤติ การ ส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย เป็นต้น
ขณะที่ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวว่า รายงานผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทางทีมได้ศึกษามานี้ สกสว.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะนำข้อมูลที่ได้ใช้ในการจัดทำแผนด้าน ววน. และ เป็นข้อมูลฐาน (Baseline) ประกอบตัวชี้วัด พร้อมกับส่งข้อมูลรายงานสถานการณ์ ทั้งที่เป็นผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายสื่อสารให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบและดำเนินการต่อไป
No comments