วช. หนุน สจล. วิจัยออกแบบและพัฒนาเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบที่สามารถวัดและส่งค่าสัญญาณชีพผู้ป่วยผ่านระบบคลาวด์ เพื่อพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล ลดการติดเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบที่สามารถวัดและส่งค่าสัญญาณชีพผู้ป่วยผ่านระบบคลาวด์ ให้แก่ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ แห่ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อส่งต่อผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาล ช่วยป้องกันการติดเชื้อในระหว่างเดินทางได้เป็นอย่างดี
โดยผลสำเร็จจากการพัฒนาเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ ทีมนักวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ได้ผลเป็นอย่างดี สามารถลดการติดเชื้อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยติดเชิ้อโควิด19
ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า จากความรุนแรงของสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล ที่จะทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ในระหว่างการเคลื่อนย้าย สจล. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อวิจัยออกแบบและพัฒนาเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบที่สามารถวัดและส่งค่าสัญญาณชีพผู้ป่วยผ่านระบบคลาวด์
โดยเตียงความดันลบที่วิจัยได้ในโครงการจะผลิตได้ในราคาถูก สามารถผลิตได้ในประเทศ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตัวได้ลดการนำเข้า และเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเตียงความดันลบที่ใช้อยู่ รวมทั้งยังใช้งานง่าย และมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถวัดและส่งสัญญาณชีพของผู้ป่วยได้ ซึ่งเทคนิคในการส่งสัญญาณผ่านระบบคลาวด์ทำให้สามารถดูสัญญาณชีพผู้ป่วยระหว่างการเคลื่อนย้ายได้จากทุกที่ เนื่องจากระบบคลาวด์สามารถส่งสัญญาณได้ด้วยความเร็วสูง และรองรับกับอุปกรณ์สื่อสารเกือบทุกชนิดในปัจจุบัน ทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ในระหว่างการเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถทำการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที
อีกทั้งข้อมูลผู้ป่วยจะถูกส่งให้ทางโรงพยาบาลศูนย์รับทราบอาการผู้ป่วยก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล เพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงโรงพยาบาล ยิ่งไปกว่านั้นการเฝ้าสังเกตอาการผ่านอุปกรณ์สื่อสารยังช่วยลดโอกาสในติดเชื้อระหว่างแพทย์และผู้ป่วยลง Product Profit ที่ได้จากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยใน Negative Pressure Chamber คือการลดการกระจายของเชื้อสู่บุคคลากรทางการแพทย์ลง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ และทำให้ลดความจำเป็นในการทำความสะอาดรถพยาบาลหลังการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น
“เตียงความดันลบนี้สามารถถอดและประกอบกับ Stretcher ที่สามารถเข็นขึ้นรถอุบัติเหตุฉุกเฉินหรือรถพยาบาลได้ โดยระบบกรองอากาศที่ใช้ในเตียงความดันลบจะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถประกอบอยู่ในเตียงได้โดยไม่ต้องแยกออกจากเตียง รวมทั้งยังสามารถทำความดันได้ถึง -20 Pa ซึ่งสูงกว่าเตียงความดันลบมาตรฐานจากต่างประเทศ มีการไหลเวียนอากาศถึง 15 ครั้งต่อชั่วโมง เพื่อความสบายของผู้ป่วย และเพื่อความเหมาะสมในการใช้งานกับผู้ป่วยอุบัติเหตุ เตียงยังสามารถปรับระดับของเบาะรองผู้ป่วยได้ ตัวเตียงมีที่จุดใส่ถุงมือเพื่อเข้ารักษาผู้ป่วย 10 จุด เพื่อใช้ในการรักษาเบื้องต้นให้ผู้ป่วย เตียงสามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 7 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่สำรองภายในเตียง มีจุดสอดสายน้ำเกลือ และสายออกซิเจน พร้อมเสาน้ำเกลือ และจุดแขวนถังออกซิเจน เพื่อสำรองกรณีที่ผู้ป่วยต้องรอก่อนเข้ารับการรักษาในห้องความดันลบต่อไป ซึ่งล่าสุด โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ได้มีการนำเตียงความดันลบดังกล่าว ไปใช้งานจริงเรียบร้อยแล้ว”ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าว
No comments