วช.หนุนงานวิจัยม.นเรศวร ตรวจคุณภาพทุเรียนแบบไม่ทำลายผลผลิต ด้วยเทคนิคเนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี พร้อมวิจัยเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยครบวงจร
ทุเรียน “ราชาผลไม้ของไทย” จัดเป็นไม้ผลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีมูลค่าการส่งออกสูง ในปีพ.ศ.2564 การส่งออกทุเรียนผลสดตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน มีมูลค่ามากถึง 102,573.7 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าปี พ.ศ.2563 ถึง 56.29% การยกระดับมาตรฐานทุเรียนหรือ สินค้าผลไม้สดอื่นๆ ของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก คือ ปัญหาด้านคุณภาพของผลไม้ ทั้งความสุก ความหวาน ดังนั้นการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อรับประกันคุณภาพของไม้ผลก่อนส่งออกจึงเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ตอนนี้งานวิจัยที่ทำเรื่องของการส่งออกก็จะมีเรื่องของมะม่วง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และในเรื่องของทุเรียน โดยเริ่มงานวิจัยตั้งแต่ทุเรียนหลงลับแล จนปัจจุบันทำทุเรียนหมอนทองด้วย โดยการส่งออกก็ได้รับงบประมาณจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติเช่นเดียวกัน หลักๆก็คือทุเรียนและมะม่วง
เราทำวิจัยในการยืดอายุของทุเรียน เริ่มแรกเราต้องตัดทุเรียนแก่พอดี เพราะคนไทยชอบกินทุเรียนกรอบนอกนุ่มใน หรือบางคนเช่นคนจีนต้องกินทุเรียนที่มันเละหรือทุเรียนที่สุกมากๆ แต่คนไทยหรือคนเอเชีย ที่อยู่ตลาดอเมริกาหรือตลาดที่ญี่ปุ่น เขาต้องการทุเรียนที่กรอบนอกนุ่มใน เวลาที่เราตัดทุเรียน ในอดีตเราใช้ไม้เคาะ แต่ตอนนี้เราใช้เครื่องที่เรียกว่า เครื่องNIR เนียร์อินฟราเรดสเปคโทรสโกปี (Near Infrared spectroscopy: NIR) สามารถที่จะทำให้รู้ว่าทุเรียนสุกหรือแก่อย่างไร เราสามารถที่จะบอกได้เลยว่าอันนี้กรอบนอกนุ่มใน และบอกได้ว่าความหวานเท่าไรคือดูแค่เครื่องนี้สามารถบอกได้เลย ซึ่งเป็นเทคนิคที่กำลังได้รับความนิยมในการนำมาใช้ประเมินคุณภาพหรือประกันคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ให้ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ไม่ทำลายตัวอย่าง สามารถประเมินคุณภาพได้สูง ได้ค่าที่ถูกต้อง แม่นยำ ไม่จำเป็นต้องใช้ผู้มีประสบการณ์ มีความรวดเร็ว ไม่ใช้สารเคมีในการวิเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนการส่งออกถ้าส่งออกในรูปแบบสดก็ดีอยู่แล้วแต่ถ้ามาในรูปแบบแกะพร้อมรับประทานนี้ดีกว่า เพราะว่ากรณีที่เราส่งออกแบบนี้ แน่นอนครับไปถึงปลายทางบริโภคได้เลย ตอนนี้ในกล่องที่เราทำเป็นลักษณะที่ไม่ให้มีหยดน้ำเกาะ เพราะว่าถ้ามีหยดน้ำเกาะทุเรียนมันจะเสีย เราก็ต้องออกแบบกล่องไม่ให้มีไอน้ำเกาะและเรื่อง Anti-Fog แล้วเราก็มีสารดูดความชื้นอยู่ข้างใน เป็นกล่องที่ดูดกลิ่นได้ด้วย ก็คือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และออกแบบในเรื่องของการที่จะมีสารดูดความชื้น ที่สำคัญเหนืออื่นใดจำเป็นจะต้องมีในเรื่องของสารที่ยับยั้งกระบวนการสุกของผลไม้ ซึ่ง 1-MCP มีสมบัติในเรื่องของยับยั้งกระบวนการสุกของทุเรียน ทำให้ถึงปลายทางยังคงเป็นสภาพดี แล้วเราอยากให้อยู่ได้นานขึ้นเราก็เก็บในตู้เย็นที่ 5 องศา แต่ถ้าเกิดว่าวันนี้เราอยากบริโภคเราก็ดึงสารที่ยับยั้งกระบวนการสุกมันก็จะสุกเร็วขึ้น ตราบใดที่มีตัวนี้อยู๋ก็จะทำให้การสุกเกิดขึ้นช้า ถ้าต้องการสุกเร็วก็ดึงออกนอกจากจะสะดวกกับผู้บริโภคแล้วดีกับผู้ประกอบด้วย เป็นการเพิ่มมูลค่า กรณีผู้ประกอบการเอง แทนที่เขาได้ส่งผลทุเรียนไปถึงปลายทางอาจจะไม่สุก แกะเนื้อไม่ออก โดนตีกลับด้วย กลายเป็นขยะที่ปลายทางด้วย แต่ผู้ประกอบการก็สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น พูดง่ายๆว่าสามารถทำเป็นทุเรียนพรีเมี่ยม ทุเรียนพรีเมี่ยมคือทุเรียนที่การันตีเรื่องความหวาน เรื่องการสุกแก่ ผู้บริโภคเวลาบริโภคแล้วก็รู้สึกว่าได้ทานทุเรียนที่มีคุณภาพ เรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรเอง และมีตลาดมากขึ้น
สำหรับมะม่วงเรามีงานวิจัย เริ่มแรกเรามีงานวิจัยปัญหาของโควิด-19 จริงๆเราทำงานวิจัยก่อนหน้านั้นแล้ว ตอนช่วงนั้นอาจจะไม่สำคัญ ส่งมะม่วงทางเรือแค่มันประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถส่งออกได้ลดต้นทุน ตอนมีโควิด-19 เข้ามามีปัญหาว่าเครื่องบินไม่มี เสร็จแล้วมะม่วงของเกษตรกรก็มี ตลาดปลายทางก็ต้องการ แต่ปัญหาคือว่าไม่รู้จะไปยังไง ก็เลยวิจัยเรื่องการส่งออกมะม่วงทางเรือก็เลยได้มาใช้ในถุงยืดอายุในการยืดอายุมะม่วง ทำให้อยู่ได้นานขึ้นถึง 33 วัน และต่อจากนั้นก็มีงานวิจัยอีกอันนึงที่เราทำร่วมกับบริษัทเมอส์ก ก็คือการใช้ตู้ควบคุมสภาพบรรยากาศ คือตัวมะม่วงใส่ถุงพลาสติกงานเก่าที่เคยออกงานมาหลายครั้งแล้ว มันมีปัญหาที่ปลายทาง คือเราจะต้องเอาถุงพลาสติกออกพอถึงปลายทาง บางคนก็มองว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าเราใช้ตู้ควบคุมสภาพบรรยากาศเราไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกเลย ในตู้คอนเทนเนอร์ก็มีการควบคุมสภาพบรรยากาศภายใน อย่างออกซิเจนเราต้องการแค่ 3% คาร์บอนไดออกไซด์ 5% เป็นการควบคุมสภาพบรรยากาศตลอดการขนส่ง ให้การขนส่งมีการควบคุมออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดเวลาให้คงที่ เราสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ทั้งหมด 30 วัน ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องการขนส่งทางเครื่องบิน เราสามารถใช้การขนส่งทางเรือได้ ซึ่งการขนส่งทางเรือทำให้ปริมาณการส่งออกมะม่วง ณ ปัจจุบันสูงขึ้น
โดยทั้ง 2 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนหรือว่ามะม่วง ผมได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ช่วยสนับสนุนในเรื่องของการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่กระบวนต้นน้ำ การผลิตทำยังไงให้ได้คุณภาพดี ทำยังไงให้มะม่วงที่จะทำเพื่อการส่งออกได้ รวมทั้งกระบวนปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวในการยืดอายุ การขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการที่ไปเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำการวิจัยส่งมะม่วงไปรัสเซีย โดยทางเรือต่อด้วยเครื่องบิน จากเรือจะไปแค่ดูไบ เพราะว่าเรือไปดูไบมีตู้คอนเทนเนอร์เยอะ แล้วจากดูไบเข้ารัสเซียใช้เครื่องบิน เพราะว่ามีเครื่องบินจากดูไบไปรัสเซียจำนวนมาก สามารถแก้ปัญหาในเรื่องของการระบาดของโควิด-19ได้ เนื่องจากเราไม่มีเครื่องบินจากไทยไปรัสเซียโดยตรง ในส่วนของเกษตรกรหรือว่าในส่วนของผู้ส่งออก รวมทั้งปลายทางที่เป็นบริษัทนำเข้า เราก็ยินดีให้คำปรึกษา ยินดีที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการยืดอายุ การผลิตที่มีคุณภาพดี และสามารถที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ที่ทำให้เห็นว่ามีหลากหลายปัญหาทั้งในเรื่องของการขนส่ง รวมถึงการยืดอายุผลไม้ การวิจัยถือว่าช่วยได้มากทีเดียว
สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โทร. 055-963014 E-mail : peerasakc@gmail.com
No comments