ใช้ซินโครตรอนศึกษาฤทธิ์ต้านอักเสบของ “เพกา” สมุนไพรกินคู่น้ำพริก
.นักวิทยาศาสตร์ซินโครตรอนร่วมกับนักวิจัย มทส.-อาจารย์แพทย์แผนไทย มรภ.เพชรบุรี ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของฝักไม้ยืนต้นที่มีรูปร่างคล้ายดาบชื่อ “เพกา” หรือบางท้องถิ่นเรียก “ลิ้นฟ้า” ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่นำกินคู่กับน้ำพริกบนโต๊ะอาหาร ผลการวิเคราะห์พบว่าต้านการอักเสบได้จริง พร้อมตรวจการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์ด้วยแสงซินโครตรอน
.
ศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.เกรียงศักดิ์ เอื้อมเก็บ อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรีคลินิก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมกับอาจารย์เบญจวรรณ ดุนขุนทด อาจารย์ประจำสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของเพกา โดยมีความร่วมมือกับ ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำแสงซินโครตรอนมาร่วมวิเคราะห์
ทีมนักวิจัยมีความสนใจฤทธิ์ต้านการอักเสบของเพกา โดยนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอักเสบมาใช้ออกแบบการทดลอง ซึ่งการอักเสบนั้นเป็นการตอบสนองปกติของร่างกายต่อสิ่งที่ทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายได้รับความเสียหาย ในขณะที่เกิดการอักเสบจะเกิดการเคลื่อนที่ของพลาสมาและเม็ดเลือดขาวจากเลือดไปยังเนื้อเยื่อที่อักเสบ โดยเซลล์ที่มีบทบาทมากที่สุดในกระบวนการอักเสบ คือ “เซลล์แมโครฟาจน์” ซึ่งเซลล์ดังกล่าวนี้จะถูกกระตุ้นได้จากสารเคมีบางชนิดและสารประกอบจากแบคทีเรีย เช่น ไลโปโพลิแซคคาไรด์ สารอินเตอร์เฟียรอนแกมมา เซลล์แมโครฟาจน์ที่ได้รับการกระตุ้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยา การสร้างอนุมูลอิสระ (ROS) ภายในเซลล์ และไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ซึ่งจากการศึกษาและงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า ผัก ผลไม้ และธัญพืชมีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารกลุ่มฟีนอลิก และกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ
ในการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบของสารสกัดจากเพกา ทีมวิจัยได้ศึกษาในโมเดลของเซลล์แมโครฟาจน์ที่ถูกกระตุ้นด้วย ไลโปโพลิแซคคาไรด์ ร่วมกับ สารอินเตอร์เฟียรอนแกมมา และผลการวิจัยพบว่า สารสกัดเพกามีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ โดยยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระและไซโตไคน์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ พร้อมกันนี้ผู้วิจัยยังประยุกต์ใช้เทคนิค SR-FTIR microspectroscopy ที่ระบบลำเลียงแสง 4.1 ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลภายในเซลล์แมโครฟาจน์ สำหรับใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกับเทคนิคการตรวจวัดแบบดั้งเดิม เพื่อประเมินประสิทธิภาพของสารสกัดหรือยาต่างๆ ว่า สามารถต้านการสร้างอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบหรือไม
การวิจัยครั้งนี้ทีมวิจัยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและค้นหากลุ่มพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา อีกทั้งเพื่อให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นสำหรับการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรในอนาคต
No comments