Breaking News

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership) ผนึกภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม จัดงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022




ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ผสานพลังภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม เปิดเวทีสาธารณะระดับประเทศ TEP Forum 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” ยกขบวนผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา กูรูผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน ร่วมแชร์มุมมอง ระดมสมอง ถกประเด็นปัญหา พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในทุกมิติ



19 มีนาคม 2565 – ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership) ผนึกภาคีด้านการศึกษา องค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม จัดงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022 “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” ในระหว่างวันที่ 19–20 มีนาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน ร่วมงาน โดยภายในงานมีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ ZOOM และ LIVE

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP – Thailand Education Partnership) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน สาเหตุหลักจากการปฏิรูปโครงสร้างมากกว่าการเรียนรู้จริง และเป็นการขับเคลื่อนจากบนลงล่าง (Top–down) ด้วยการประกาศนโยบายจากส่วนกลาง ขาดการมีส่วนร่วมของระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการศึกษาในพื้นที่ รวมถึงเรียนการสอนแบบท่องจำความรู้ (Passive Learning) ส่งผลให้คุณภาพของเด็กถูกลดทอนลง ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ซ้ำเติมให้การศึกษาไทยให้เสียหายอย่างหนัก ความรู้ของเด็กไทยถดถอยเพราะสูญเสียโอกาสจากการที่โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งระบบการศึกษาที่มีคุณภาพต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เป็นการศึกษาที่เสริมสร้างสมรรถนะให้ผู้เรียน ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนเชิงรุกที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ (Active Learning) เพื่อให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี 

ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย (TEP) เกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายที่สนใจด้านการศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ มุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาไทย ด้วยความเชื่อว่าระบบการศึกษาที่ดีต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทั้งองค์กรภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม ด้วยการสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันและรวบรวมความคิดเห็นจากทั้งนักเรียน ครู นักการศึกษา พ่อแม่ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเพื่อเป็นเสียงสะท้อนความต้องการจากผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่เผชิญกับปัญหาจริงไปยังผู้กำหนดนโยบาย และสังเคราะห์ความคิดเห็นเหล่านี้บนฐานวิชาการเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ รวมถึงการจัดงาน TEP Forum ในครั้งนี้จะเป็นเวทีสาธารณะระดับประเทศที่จะสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ของการเรียนรู้ สร้างเสริมพลังของเครือข่าย อันจะนำไปสู่นโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลกในทุกมิติ

Dr. Aarti saihjee

Chief of Education Section, UNICEF

การจัดงาน TEP Forum 2022 ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยสู่อนาคต” เพื่อให้การขับเคลื่อนงานของ TEP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในวงกว้าง

สราวุฒิ อยู่วิทยา 

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา

โดยกิจกรรมที่น่าสนใจในวันแรก ได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ “วิกฤตโควิด สร้างโอกาสการศึกษาใหม่” โดย พงศ์ทัศ วนิชานนท์ นักวิจัยอาวุโส กลุ่มงานวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, Dr. Aarti saihjee, Chief of Education Section, UNICEF, ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education และเสวนา “ภูมิทัศน์การศึกษาไทยสู่อนาคต : เปลี่ยนอย่างไรให้ตอบโจทย์” โดย รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา, มิรา เวฬุภาค CEO mappa และ CEO & Founder, Flock Learning, ศศิธร สุขบท ผู้สื่อข่าวและ Content Creator ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส และ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูโรงเรียนราชดำริ กรุงเทพฯ พร้อมกิจกรรมระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย

ส่วนกิจกรรมในวันที่ 2 ได้แก่ TEP Talk กับ 5 แรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนการศึกษาไทย พร้อมสรุปผลการระดมสมอง 5 โจทย์สำคัญเพื่อการเปลี่ยนระบบการศึกษาไทย เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ และกิจกรรมล้อมวงเสวนา “บทบาทของคนรุ่นก่อน และคนรุ่นใหม่ ต่อภารกิจการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย” โดย อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO & Editor–in–Chief THE STANDARD และ พริษฐ์ วัชรสินธุ CEO StartDee ก่อนจะปิดท้ายด้วยกิจกรรม Network Meeting ผนึกกำลังเครือข่ายพัฒนาครู, เครือข่ายโรงเรียน, เครือข่ายคนรุ่นใหม่/เด็กและเยาวชน และเครือข่ายปฐมวัย

มิรา เวฬุภาค 

CEO mappa และ CEO & Founder, Flock Learning

“การจัดงาน TEP Forum ในครั้งนี้ต้องการเน้นย้ำให้การปฏิรูปการศึกษาขยายไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้นและกลายเป็นกระแสหลัก โดยเฉพาะวิกฤตโควิด–19 ยิ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละกลุ่มสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เป็นฐานสมรรถนะร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นผลสำเร็จเชิงรูปธรรมสู่สาธารณะ พร้อมทั้งคาดหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต มีทัศนคติที่ถูกต้อง และเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวข้ามความล้าหลังด้านการศึกษา พร้อมก้าวสู่สังคมที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นพ.ยงยุทธ กล่าวในตอนท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว พร้อมร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ได้ที่ https://www.facebook.com/TEPThaiEDU

No comments