Breaking News

CEA แถลงข่าว “EMPOWERING PAKK TAII” ยกระดับ ‘ภาคใต้’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรม สู่ Soft Power ระดับสากล



    สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดงานแถลงข่าว “EMPOWERING PAKK TAII” ยกระดับ ‘ภาคใต้’ ด้วย ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ส่งเสริมให้เมือง ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’ เพื่อผลักดันทุนความคิดสร้างสรรค์ของพื้นที่ให้เกิดเป็นเครื่องมือสร้างรายได้แก่ภาคธุรกิจและภาคชุมชน มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) และบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) สู่การเป็นทรัพยากร Soft Power พร้อมต่อยอดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่พื้นที่อื่น ๆ ของภาคใต้ นำไปสู่การกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งต่อห่วงโซ่ธุรกิจ เช่น ร้านค้า โรงแรม ที่พัก ฯลฯ ให้กลับคืนสู่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท


CEA นำร่องเตรียมความพร้อมยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดสงขลา

สงขลา ถือเป็นจังหวัดใหญ่ศูนย์กลางของภาคใต้ตอนล่างที่อุดมไปด้วยประวัติศาสตร์ การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนการผสมผสานของผู้คนจากหลากหลายเจเนอเรชัน ด้วยศักยภาพเหล่านี้ สงขลาจึงรุดหน้ายกระดับธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้ ให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์ การเลือกจังหวัด สงขลา จึงเป็นหมุดหมายของ CEA ในการขยายศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ภาคใต้ โดยการจัดตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบสงขลา (TCDC สงขลา) โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการภายในปี 2567 ซึ่งจะเป็นสาขาแห่งที่ 3 ต่อจากเชียงใหม่ และขอนแก่น และจะเป็นการขยายศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ครอบคลุม 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ เมือง และเตรียมความพร้อมบุคลากรให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นอกจากนี้ CEA ยังได้จัดทำแผนพัฒนาและฐานข้อมูลย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย่านเมืองเก่าสงขลา เพื่อเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล ส่งเสริมการอยู่อาศัย การทำงาน รวมทั้งการลงทุนและการพัฒนาย่านดังกล่าว
อีกด้วย  


ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ภาคใต้เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่สําคัญของประเทศไทย ด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นทางการค้าโลก มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย ทั้งยังดึงดูดให้ผู้คนในประเทศและนานาชาติเข้ามาประเทศไทย โดยในปี 2563 ภาคใต้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพียง 2 - 3 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 9 แสนล้านบาท การลดลงที่มีนัยสำคัญเหล่านี้ นำมาสู่การที่ CEA จัดทำโครงการต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปี (2565 - 2566) ทั้งในเชิงพื้นที่ ผู้คน และธุรกิจ รวมถึงในเชิงกลยุทธ์ ให้เป็นต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัด ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Made in Songkhla, The Wall 2022, Global OTOP และ Changex2 เป็นต้น ในการยกระดับธุรกิจท้องถิ่น บุคลากรสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และภาคีเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเมือง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เมืองเก่า และด้วยความร่วมมือเหล่านี้ CEA จะจัดงานเทศกาลงานออกแบบปักต์ใต้ 2566 (Pakk Taii Design Week 2023) และโครงการ Empowering Songkhla เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของสงขลาให้กลับมาโดดเด่นได้อีกครั้ง ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ คาดสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาการจัดงานไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 37,000 คน

เปิดแพลตฟอร์มแสดงศักยภาพของชาวปักษ์ใต้ ใน “Pakk Taii Design Week 2023”


ด้าน คุณพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “Pakk Taii Design Week 2023” จะเป็นเทศกาลฯที่ช่วยยกระดับศักยภาพของภาคใต้ ด้วยการจับมือกับนักสร้างสรรค์ 14 จังหวัด ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ตั้งเป้าต่อยอดสินทรัพย์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ผลักดันศักยภาพคนท้องถิ่น นักสร้างสรรค์ นักพัฒนา ผู้ประกอบการท้องถิ่น ภายใต้ธีม ‘The Next Spring  หลบเริน แล้วผลิบาน’ จากกว่า 70 โปรแกรมที่จัดอยู่ทั่วพื้นที่ ใน 3 พื้นที่หลักของจังหวัดสงขลา ได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา ท่าเรือแหลมสน ชุมชนหัวเขา ตัวเมืองหาดใหญ่ พร้อมกับกิจกรรมในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ได้แก่ ย่านทับเที่ยง จังหวัดตรัง และย่านอา-รมย์-ดี จังหวัดปัตตานี มุ่งหวังเป็นแพลตฟอร์มยกระดับงานออกแบบสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 12 - 20 สิงหาคม 2566 

“Empowering Songkhla” ยกระดับธุรกิจของภาคใต้ด้วยครีเอเตอร์



ด้าน คุณอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (CEA) กล่าวว่า CEA ได้จัดทำ โครงการพัฒนาและส่งเสริมสินทรัพย์ท้องถิ่นสู่ธุรกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดสงขลา (Empowering Songkhla) มุ่งเน้นการส่งเสริม พัฒนาและยกระดับชุมชน ในกลุ่มอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (By-product) โดยนำวัตถุดิบที่มาจากทุนวัฒนธรรม 5 รายการ ได้แก่ มะม่วงเบา, ตาลโตนด, ไข่ครอบ, ดอกดาหลา และปลากะพงจากทะเลสาบสงขลา มาต่อยอดด้วยการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาในการพัฒนาสินค้าจากทุนทางวัฒนธรรมข้างต้น โดยมีการคัดเลือก 5 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาและต่อยอดวัตถุดิบออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจ และผลักดันสู่ความเป็น Soft Power จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์ซอสคาราเมลน้ำตาลโตนด และคอมบูฉะรสตาลโตนด จากตาลบุรี
2. ผลิตภัณฑ์เค้กมะม่วงเบา และไข่มุกป๊อปรสมะม่วงเบา จาก DFruit’s
3. ผลิตภัณฑ์ Gelato มะม่วงเบา และ Gelato รสมะพร้าวน้ำหอม ซอสไข่ครอบ จาก Rest is more Gelato Cafe Hatyai
4. ผลิตภัณฑ์น้ำดาหลา และแยมดาหลา จาก SeaVerse Cafe & Restaurant
5. ผลิตภัณฑ์ขนมจีบปลากะพง และผลิตภัณฑ์เกี๊ยวปลากะพง จาก Arkrit’s Farm




ทั้งนี้โครงการ Empowering Songkhla ได้เข้าร่วมในการจัดกิจกรรมภายใต้ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “Pakk Taii Design Week 2023” อีกด้วย




ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ CEA สงขลา และ พื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด สงขลาและจังหวัดอื่น ๆ พร้อมกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคใต้ไปด้วยกัน สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ประเทศไทย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cea.or.th

No comments