Breaking News

บจธ. เตรียมจัดหาที่ดินให้เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน อ. ปักธงชัย จ. นครราชสีมา ต้นแบบนำร่องที่ดินทำเกษตรเป็นของตนเองครบวงจร 200 ไร่ 60 ครัวเรือน

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. เดินหน้าพร้อมจัดหาที่ดินให้เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมาที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยการให้เช่าซื้อที่ดินในบริเวณ ต.ภูหลวง อ.ปักธงชัย อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี ครอบครัวละประมาณ 3 ไร่ สำหรับทำอาชีพการเกษตรและใช้เป็นที่อยู่อาศัย หลังเกษตรกรรวมกลุ่มขอรับการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือในนามสหกรณ์การเกษตรตะขบ จำกัด จำนวน 60 ครัวเรือน ในระยะแรกมีพื้นที่จัดสรรประมาณ 200 ไร่ โดย บจธ. ได้ลงสำรวจพื้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายใต้โครงการต้นแบบการบริหารการจัดการที่ดินแบบครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โมเดลการกระจายการถือครองที่ดินให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง




นายพงศ์พจน์ เอนกวนิช ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดิน 1 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภายหลังคณะทำงานของ บจธ. ลงสำรวจพื้นที่ใน ต.ภูหลวง และ ต.งิ้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ตามที่สหกรณ์การเกษตรตะขบ จำกัด ยื่นขอรับการสนับสนุนที่ดินทำกินและเงินช่วยเหลือเพื่อให้เช่าซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่ทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัย โดยในระยแรกมีเป้าหมายที่ดินที่จะเข้าร่วมโครงการประมาณ 200 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรแบ่งกระจายการถือครองให้กับเกษตรกรประมาณ 60 ครัวเรือน ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ต่อครัวเรือน

หลังจากลงสำรวจสภาพพื้นที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นที่ดินทางสหกรณ์การเกษตรตะขบ จำกัด ได้เจรจาขอซื้อกับเจ้าของที่ดินในเบื้องต้น และเจ้าของที่ดินประสงค์จะขาย บจธ. จะรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินที่สหกรณ์การเกษตรตะขบ และผู้นำเครือข่ายชุมชน ชี้เป้าให้ บจธ. นำไปบริหารจัดการ ภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดซื้อที่ดินของ บจธ. โดยจะใช้เวลาพิจารณา อย่างน้อย 60-90 วัน ทั้งในเรื่องความพร้อมของกลุ่มเกษตรกรที่จะเข้าสู่กระบวนการให้เช่าซื้อกับ บจธ. รวมทั้งการพิจารณาความเหมาะสมของราคาที่ดิน และต้องไม่เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินซับซ้อนหรือเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน

เบื้องต้นการสำรวจสภาพพื้นที่และพบปะเกษตรกร (บางส่วน) แล้ว บจธ. เล็งเห็นว่าเกษตรกรเหล่านี้ มีความตั้งใจในการทำการเกษตรมีการเตรียมของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการโดยการฝึกทำเกษตรจริง และมีตลาดรองรับพืชผลทางเกษตรหลังจากที่ บจธ. ได้ลงพื้นที่ดูตัวอย่างแปลงเกษตรในศูนย์การเรียนรู้และดูกิจกรรมวิถีการทำการเกษตรของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ ดังกล่าว ที่เกษตรกรได้เข้าร่วมฝึกอบรมอาชีพด้านการเกษตรกับกองพันส่งกำลังและบริการที่ 22 สังกัดกองบัญชาการช่วยรบที่ 2 กองทัพภาคที่ 2 นอกเหนือจาการดูพื้นที่เป้าหมายแล้วพบว่าเกษตรกรและผู้ยากจนบางส่วนเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของภาครัฐที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปดำเนินโครงการของรัฐ และบางส่วนเป็นเกษตรกรที่ถูกขับไล่ออกจากที่ดินที่เข้าไปลุกล้ำในเขตป่าสงวน

ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการที่ดิน 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือของ บจธ. คือ ต้องเป็นเกษตรกรหรือผู้ยากจนที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ โดยเกษตรกรต้องรวมกลุ่มเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น รวมตัวเป็นสหกรณ์ เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการคัดกรองเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการว่าเป็นผู้ยากจนที่อยู่ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเป็นเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร หรือในกรณีของสหกรณ์การเกษตรตะขบ จำกัด ต้องเป็นเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์การเรียนรู้และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำเกษตรกรรมอย่างแท้จริง สำหรับวงเงินที่ บจธ. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในเฟสแรกนี้ หากสำเร็จจะถือเป็นโครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจรอีกแห่งหนึ่ง ของ บจธ. และเป็น 1 ใน 4 โมเดลของการดำเนินงานของ บจธ.

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ labai@labai.or.th หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 0 2278 1648 ต่อ 601, 602, 610 มือถือ 09 2659 1689

No comments