Breaking News

ศิริราช - วช. - TCELS - มทร.ล้านนา - สทน. ร่วมวิจัย และพัฒนา นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks) ป้องกัน COVID-19



วันที่ 17 มีนาคม  2563 เวลา 11.00 น. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)  และหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจัด แถลงข่าว “ร่วมวิจัย และพัฒนานวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19” โดยมี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานแถลงข่าวร่วมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์  วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช  ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)  ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์  (TCELS)  ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้า (ประยุกต์) วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ นักวิจัยพัฒนาผ้ากันไรฝุ่นศิริราช และ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ณ ห้อง C 203 อาคารศรีสวรินทิรา ชั้น 2 รพ.ศิริราช


​ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศิริราชได้ต่อยอดนวัตกรรมผ้ากันไรฝุ่นที่มีอยู่เดิม ให้มีคุณสมบัติดีขึ้นสามารถผลิตเป็นหน้ากากนาโนกันไรฝุ่นและโควิด-19 นวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks ) เป็นผลงานวิจัยของคนไทย พัฒนาขึ้นภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)เป็นผู้ผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบมาตรฐาน และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฉายรังสี ลงบนหน้ากากเป็นขั้นตอนสุดท้ายทำให้เกิดความปลอดภัยไม่ปนเปื้อนเชื้ออันตรายและไม่มีผลข้างเคียงกับผู้ใช้โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) WIN-Masks มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันไวรัสต่างๆและฝุ่นละออง PM 2.5 ป้องกัน COVID-19 เป็นหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ความเสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา ขณะเดียวกันลดขยะปนเปื้อนจากหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ด้วย    


ทั้งนี้ในระยะแรกจะทำการทดสอบการผลิตชุดแรก 7,000 ชิ้น ภายใน 3 สัปดาห์ พร้อมเก็บตัวอย่างทดสอบการใช้งานจริงเพื่อนำมาปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ก่อนการผลิตรุ่นที่สองที่จะเพิ่มจำนวนการผลิตเป็น 100,000 ชิ้น ภายใน 2 เดือน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีหน้ากากอนามัยคุณภาพสูงส่งตรงให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้


ด้านศ.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า วช.พร้อมสนับสนุนทุนวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังมีความต้องการของสังคมมาก ในช่วงเวลาของการระบาดของเชื้อไวรัสนี้ เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของนักวิจัยไทยที่จะหานวัตกรรมที่เข้ามามีส่วนช่วยแก้ปัญหา หน้ากาก WIN-Masks จึงเป็นผลงานวิจัยที่ตรงจุด ที่พร้อมนำมาใช้ในทางการแพทย์และใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนให้มีความปลอดภัยทางสุขภาพ


ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวส์เคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สทน.ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ฉายรังสีลงบนหน้ากากเป็นขั้นตอนสุดท้ายซึ่งจะช่วยในการฆ่าเชื้อโรค ก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคและไม่มีผลข้างเคียงกับผู้ใช้ เป็นการเพิ่มความสะอาด ปลอดภัยให้กับหน้ากากอนามัย WIN-Masks ซึ่งเป็นการฉายรังสีหน้ากากอนามัยครั้งแรกของไทย


ด้านคุณสมบัติเด่นของหน้ากาก WIN-Masks มีโครงสร้าง 3 ชั้น 1) ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น เคลือบสารนาโนกันน้ำ 2) ผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 3) ผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม ผ้า 3 ชั้น ทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักล้างได้ ถึง 30 ครั้ง มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ มีความสะอาดปราศจากเชื้อโรคตามมาตรฐานขั้นสูง จึงเป็นอีกนวัตกรรมที่จะช่วยให้บุคคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัยในการทำงานและทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติของไวรัสโควิด-19 ไปได้
สอบถามข้อมูลได้ที่ E-mail: hotline@tcels.or.th Tel: 02644-5499 ext. 0

No comments