วช. หนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 4 พื้นที่เดินหน้าจัดการน้ำชุมชนอย่างรู้คุณค่า
นักวิจัยแผนงานการบริหารจัดการน้ำปี 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยชุมชน นำเสนอ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ใน 4 พื้นที่กรณีศึกษา แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่ระบบนิเวศต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ชี้การจัดการน้ำชุมชน ควรขับเคลื่อนแบบ 3+2 เน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยแบบชุมชนมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมวิจัยจากโครงการวิจัยแนวทางการพัฒนากลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ภายใต้โครงการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำปีที่ 2 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม ร่วมกับ เครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น นักวิจัยชุมชนจัดการน้ำ 4 ภูมิภาค และนักวิชาการหน่วยงานต่าง ๆ เปิดเผยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในเวทีเสวนา CBR Talk เรื่อง การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน “ทางเลือก ทางรอด” โดยนำเสนอ 4 พื้นที่กรณีศึกษา ประกอบด้วย พื้นที่จังหวัดน่าน ราชบุรี อุบลราชธานี และสตูล ที่นำงานวิจัยในท้องถิ่นมาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งตั้งแต่ระบบนิเวศต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชี้ให้เห็นภาพปัจจุบันของปัญหาน้ำมาก ในช่วงฝนตกหนักภายในระยะเวลาสั้น ๆ และน้ำแล้ง จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate change) พร้อมเสนอแนะการจัดการน้ำชุมชน ใน 4 ภูมิภาค ควรขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สามารถขยายผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไป
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ เผยมุมมองว่า ลักษณะการตกของฝนระยะหลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำโดยชุมชน ต้องเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องน้ำกินน้ำใช้ เพื่อสร้างความมั่นคง และเกิดการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการกระจายรายได้ รู้คุณค่าทรัพยากร ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการเชิงรุกจากล่างขึ้นบนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย การมี พรบ.ทรัพยากรน้ำจะช่วยองค์กรผู้ใช้น้ำในการจัดการน้ำชุมชนเพื่อมุ่งสู่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี ดังนั้น ทั้ง 4 ภูมิภาค ควรขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 คือ 1. การจัดโครงสร้างพื้นฐาน 2. การสร้างกติกา และ 3. พัฒนาคน ร่วมกับ 1. สร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยี และ 2. จัดตั้งกองทุนในพื้นที่ตนเอง ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค คิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการจัดการน้ำและการสร้างอาชีพ จากตัวอย่างที่มี 30 ตำบลในงานวิจัยปีสอง จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หากขยับ 400 ตำบล ในปีถัดไป จะขยายผลได้ในวงกว้าง และมีภาคีเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกลไกระดับจังหวัด ดังในโครงการในแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง เมื่อทำงานวิจัยเสร็จสิ้นสรุปเป็นข้อเสนอแนะจากรูปธรรมในพื้นที่ ก็สามารถนำเสนอสู่ระดับนโยบายและรัฐบาล เพื่อให้ใช้ใขยายผลไปสู่ 80,000 หมู่บ้าน 8,000 ตำบล ของประเทศไทยได้ต่อไป
ขณะที่ คุณชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ แห่งศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เสริมว่า การดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จะเชื่อมโยงการทำงานจากล่างขึ้นบนและจากบนลงล่าง จาก 4 กรณีศึกษา ที่มีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน เป็นการแก้ปัญหาแบบ “ตัดเสื้อให้พอดีตัว” จับมือกับนักวิชาการในการจัดการน้ำ เกิดการจัดทำแผนน้ำจากชุมชนนำไปสู่การจัดการน้ำอย่างทั่วถึง ความสำเร็จทั้ง 4 พื้นที่ มุ่งสู่การขยายผลระดับหมู่บ้านและตำบลได้ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำร่วมกัน มีกลไกการขับเคลื่อนงาน การติดอาวุธทางปัญญาทั้งความรู้จากชุมชนและความรู้จากนักวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจบริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกส่วน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
สำหรับพื้นที่ ตำบลแม่จริม อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ชุมชนได้มีการตั้งโจทย์ เก็บข้อมูล และทดลองปฏิบัติการด้วยตนเอง และเชื่อมโยงข้อมูลสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชนจึงเกิดการกระตุ้นรู้เท่าทันปัญหา เกิดการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ควบคุมคุณภาพน้ำ และฟื้นฟูระบบแก่เหมืองแก่ฝาย เกิดการจัดทำแผนน้ำในระดับหมู่บ้านและ อบต.ได้ ในขณะที่ พื้นที่ตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง มีการปรับปรุงแหล่งน้ำและจัดการน้ำอย่างมีน้ำใจ ทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อเติมน้ำ และความชื้นลงดิน โดยจัดทำบ่อเก็บน้ำ สร้างฝายมีชีวิตด้วยงบประมาณที่ลดลง
พื้นที่ในจังหวัดอุบลราชธานี คือ อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอบ้านสำโรง ที่ประสบกับน้ำแล้ง ชาวบ้านได้ใช้ข้อมูลจากการทำงานวิจัย ผลักดันให้ชุมชนประหยัดน้ำ และคิดค้น “นวัตกรรมแอร์แวร์” ในการสูบน้ำขึ้นที่สูงเพื่อใช้แรงดันอากาศสูบน้ำเข้าถังและแจกจ่ายในครัวเรือน ประสานกับอุทยานผาแต้มเพื่อทำฝายปล่อยน้ำตามระบบกาลักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง และเพียงพอต่อการทำการเกษตร นอกจากนี้ที่ ตำบลบ้านกุดลาด และตำบลปทุม ที่ประสบกับน้ำท่วม อบต.ได้จับมือกันทำวิจัย ในการสื่อสารข้อมูลระดับน้ำให้กลุ่มผู้ประสบภัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาอุทกภัย และได้คิดค้น”นวัตกรรมชุดนอนนา”โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ฝีมือของชาวบ้าน เพื่อให้มีไฟส่องสว่าง และชาร์ตโทรศัพท์ได้ในช่วงประสบภัยพิบัติ
และในกรณีพื้นที่ ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์น้ำจากคลองดูสน-คลองมำบัง เพื่อการประปาและการเกษตร แต่เกิดปัญหา คนที่อยู่ริมคลองไม่ได้ใช้น้ำและช่วงฝนตกเกิดน้ำหลากจนท่วม ขาดการมองเห็นเชิงระบบ งานวิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และปรับเปลี่ยนชุดความคิด หรือ Mindset ใหม่ ให้ชุมชนใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้น
No comments