Breaking News

รอว.ตั้งธงแซนด์บ๊อกซ์วิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ แนะปั้นช้างเผือกในป่าลึกให้เป็นอีลิทใหม่ในสังคม

     รอว.ตั้งธงเตรียมจัดตั้งวิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Science) ดำเนินงานในลักษณะแซนด์บ๊อกซ์ มุ่งยกระดับการผลิตนักวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ โดยที่อยากเห็นมากที่สุดคือ BCG   ซึ่งเป็นโมเดลสากล และให้มองการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้ลดช่องว่างและเข้าสู่ยุค 4.0 ได้ รวมทั้งแนะปั้นช้างเผือกในป่าลึกให้เป็นอีลิทใหม่ในสังคมไทยที่สามารถขยับฐานะทางสังคมให้ดีขึ้น

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือแผน กรอบงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ และระบบบริหารจัดการทุน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2670 ณ ห้องประชุม อว. โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะผู้บริหารและหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ต่าง ๆ ร่วมหารือ
 
รอว.กล่าวว่า PMU มีความสำคัญมากเพราะเป็นผู้เลือกงานวิจัยที่จะให้ทุนและสนับสนุนการวิจัย หลายสิบปีที่ตนอยู่ในอุดมศึกษาและเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการทำงานจากระดับล่างขึ้นบน ระยะแรกที่พัฒนา ววน.ต้องสร้างความพร้อมและความลุ่มลึกแก่นักวิจัยในแต่ละศาสตร์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีความพร้อมเกือบทุกศาสตร์แล้วจึงต้องนำงานวิจัยและนวัตกรรมในศาสตร์ต่าง ๆ ไปพัฒนาบ้านเมืองตามทิศทางที่ต้องการ หัวใจคือ ในปี 2580 ไทยต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ ดังนั้นแต่ละ PMU ต้องรับไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย นอกจากนี้ อว.ยังได้ทำแผนอุดมศึกษา และแผน ววน. ซึ่งผ่านสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปแล้ว ตอกย้ำว่าภายในปี 2570 อว.จะต้องเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ เรามีเวลาเหลืออีกเพียง 6 ปีจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเริ่มขยับ
 
ทั้งนี้ อว.ตื่นตัวกันมากขึ้นที่จะนำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติ ไม่ขึ้นหิ้งหรือเป็นเพียงการงานวิชาชีพ การที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นต้องขึ้นอยู่กับความสุจริตในการทำงาน และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยอย่างระมัดระวัง ซึ่งจะต้องหารือกับ PMU เป็นระยะ และปรับธงให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล เช่น ประเทศพัฒนาแล้ว BCG อุตสาหกรรม 4.0 และ EEC ส่วน รอว.นั้นตั้งธงจะทำวิทยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Science) ซึ่งเราจะต้องมีเวทีนำเสนอผลงานวิจัยสู่การปฏิบัติและเรียนรู้ไปด้วยกัน การรวมสถาบันที่เกี่ยวข้องกับ ววน. ทำให้ชุมชนทางวิทยาศาสตร์ของเราไม่ได้หมายความถึง PMU หน่วยงานวิจัย หรือศูนย์ความเป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วย

“วิทยสถานทางวิทยาศาสตร์อาจจะเปิดสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เรียนทฤษฎีแบบไม่เป็นทางการ และสามารถกำหนดศาสตร์ที่ไม่ได้เปิดสอนในมหาวิทยาลัยมากนัก เช่น เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะดำเนินการในรูปแบบแซนด์บ๊อกซ์และให้ปริญญาบัตรได้ ภายใต้ความร่วมมือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ ศาสตร์ที่อยากเห็นมากที่สุด คือ วิชา BCG จากประสบการณ์ในการทำงานและยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งเป็นโมเดลสากลด้วย หรือวิชาเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแบบไทย ๆ ที่ถอดบทเรียนจากความสำเร็จออกมาเป็นทฤษฎี ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบทฤษฎีต่างประเทศ แต่จะต้องยกระดับเรื่องต่าง ๆ ของไทยที่เราเก่ง ส่วนสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ให้ธัชชาเป็นผู้คิดว่าจะวิจัยเรื่องใดบ้าง เราพร้อมที่จะทำ Metaverse หรือเทคโนโลยีควอนตัมได้หรือยัง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้เราสามารถลดช่องว่างและเข้าสู่ยุค 4.0 ได้” 
 
ทั้งนี้ รอว.ได้ฝากข้อคิดไว้ว่าอารยประเทศส่วนใหญ่ลึกซึ้งถึงแก่นเดิมและภูมิใจความเป็นมาในอดีตของชาติตน นอกจากการทำปัจจุบันให้ดีและมีอนาคต ขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาแต่ร่ำรวยอาจไม่รู้อดีตอย่างลึกซึ้ง จึงอยากให้ทุกคนนำกลับไปคิดว่าจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างไร รวมถึงการสร้างช้างเผือกในป่าลึกให้เป็นอีลิทใหม่ ขยับฐานะทางสังคมให้ดีขึ้น หาตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จให้เกิดแรงบันดาลใจและสร้างผลกระทบทางสังคมได้สูง “ผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ภาษาใด อยู่ในเมืองไทยก็ขึ้นมาได้หมด เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจฐานราก เราคิดแต่เรื่องเกษตร แต่จริง ๆ เราเก่งเรื่องศิลปะและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชาวบ้านมีดีเอ็นเออยู่แล้ว ควรสร้างศิลปินท้องถิ่นหรือช่างท้องถิ่นขึ้นมา”
 
ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการ สกสว. ได้นำเสนอภาพรวมของระบบ ววน. ที่ประกอบด้วยหน่วยนโยบาย หน่วยขับเคลื่อนนโยบาย หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยปฏิบัติการ โดยมีกองทุน ววน.เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณของ ววน. ก่อนเสนอไปที่สำนักงบประมาณเพื่อเสนอ ครม. และรัฐสภาต่อไป แต่ปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรให้งบประมาณจำนวนมากไม่ถูกตัด ดังนั้นจึงต้องมีความชัดเจนในการทำแผน ววน. ข้อต่อสำคัญคือการให้ทุนแบบต่อเนื่อง (multi-year) ซึ่งยังทำได้ไม่ดีนัก จึงต้องเสริมพลังให้ ววน. แข็งแกร่งขึ้นและนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลกระทบต่อสังคม ทั้งนี้การจัดทำแผน ววน. จะดูแนวโน้มของโลก ศึกษาความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ และความต้องการของพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราวางกรอบ เป้าหมาย และทิศทางจากระดับบนลงมา โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดด มีธงที่บอกทิศทางชัดเจน ร่วมเป็นเจ้าของและร่วมรับผิดชอบ ภายใต้วิสัยทัศน์ “พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และยกระดับคุณพรภาพชีวิต ก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2670 และพร้อมสำหรับโลกอนาคตด้วย ววน.ไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบ ววน. รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานภาครํฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม”

No comments