Breaking News

สกสว. เดินหน้าวิเคราะห์โจทย์ AI นำไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมนำเสนอโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์” โดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ดร. เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. และผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านปัญญาประดิษฐ์เข้าร่วมประชุม เพื่อนำเอาองค์ความรู้มาสนับสนุนในการทำงานขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงนำมาประกอบการวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณด้านปัญญาประดิษฐ์จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ผศ.ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ววน. (SAT) ด้านดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ สกสว. ได้นำเสนอถึงผลการศึกษาโครงการ “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สาขาดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์” โดยอธิบายว่า ปัจจุบันโลกกำลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) ซึ่งปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการเร่งการพัฒนาและใช้ AI ในทุกภาคส่วน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนอย่างยิ่งในภาคการเงิน เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงการแพทย์ โดยประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) โดยในปี พ.ศ.2565 มุ่งเน้นการขับเคลื่อน AI ในด้านการแพทย์ การเกษตร และการบริหารจัดการในภาครัฐ รวมถึงภาคการเงิน โดยข้อเสนอจากการศึกษาครั้งนี้มองไปถึงการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเร่งพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเอไอ

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้จากการศึกษาในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริม สกสว. ในการขับเคลื่อนงานเชิงระบบและทิศทางกลยุทธ์ด้าน ววน. สาขาดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทย เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศ รวมถึงสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

No comments