วันต่อต้านยาเสพติดโลก! สสส.- ศศก.เผยผลยาเสพติดในไทย12เดือนกัญชา-กระท่อมมาอันดับ1 -เฮโรอีนเพิ่มกลุ่มคนขายแรงว่างงาน
วันต่อต้านยาเสพติดโลก! สสส.- ศศก.เผยผลยาเสพติดในไทย12เดือนกัญชา-กระท่อมมาเป็นอันดับ1 อึ้งเฮโรอีนเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนขายแรงว่างงาน วอนหามาตรการช่วย ด้านนักวิชาการม.สงขลาลุยวิจัยใช้ “กระท่อม” ตามวิถีชาวบ้านกับผลกระทบต่อสมองคาดรู้ผลปลายปี63
ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “วันยาเสพติดโลก: กรณีกระท่อม กัญชา ยาบ้า ไอซ์” เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี 2563
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอันดับต้นด้านสุขภาพและปัญหาสังคม ของทุกประเทศทั่วโลก โดยมีทั้งที่ถูกกฎหมาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคทางกายและจิต อุบัติเหตุและความรุนแรง เป็นสารตั้งต้นที่เยาวชนอาจใช้ก่อนนำไปสู่การเสพยาเสพติดชนิดอื่นที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยาเสพติดผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เช่น เมทแอมเฟตามีน กัญชา พืชกระท่อม เฮโรอีน เป็นต้น
ทั้งนี้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ12-19 ปี ที่มีการใช้สารเสพติดมากถึงร้อยละ 3.72ในปี 2562โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้น คือ กัญชา พืชกระท่อม และเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ด้านยาเสพติดในประเทศไทยรอบ12เดือนที่ผ่านมา ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ด้วย พบว่าผู้ที่ใช้สารเสพติด4.6%เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง สารเสพติดที่ใช้มากที่สุดคือ กัญชา กระท่อม รองลงมาคือ ยาบ้า ยาไอซ์ ส่วนฝิ่น เฮโรอีน มอร์ฟีน แม้มีการใช้น้อย แต่ยังพบว่ามีการใช้อยู่ประปราย ที่ค่อนข้างอันตรายคือไอซ์กับยาบ้า ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาททำให้ไม่ง่วง แต่หากใช้ปริมาณสูงจะมีสารโคปามีนหลั่งออกมาเยอะทำให้มีอาการหลาดระแวง ไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง รู้สึกมีคนจะมาทำร้าย หากใช้ด้วยวิธีการฉีดเข้าเส้นทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อไวรัสตับอับเสบชนิดซีได้อีกด้วย ส่วนกัญชา จะมีสารทีเอชซี (THC) และซีบีดี (CBD) ซึ่งสารซีบีดีเป็นสารที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ขณะที่สารทีเอชซีจะมีฤทธิ์ทำให้เสพติดได้ หากใช้มากเสี่ยงเกิดอาการคล้ายกับยาบ้าคือ หวาดระแวง หูแว่วประสาทหลอน
รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า สำหรับกระท่อม มีฤทธิ์กดประสาท ที่ต้องระวังคือการเอาไปผสมกับยารักษาโรคอื่นๆ ที่ออกฤทธิ์ ต่อสมอง ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะทำให้เราคาดเดาผลข้างเคียงไม่ได้ โดยเฉพาะการผสมกับยาที่ออกฤทธิ์กดประสาทแบบเดียวกันยิ่งทำให้ออกฤทธิ์รุนแรงได้ ขณะที่เฮโรอีนค่อนข้างลดลงในปีที่ผ่านมา แต่ยังเจอในกลุ่มอาชีพเกษตรกร คนรับจ้าง คนว่างงาน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มมากขึ้น ทั้งนี้เฮโรอีนจะมีฤทธิ์กดสมอง กดการหายใจ หากใช้ปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ และหากใช้แบบฉีดเข้าเส้นก็เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี และไวรัสตับอักเสบชนิดซี
“สิ่งที่ต้องนำมาพูดถึงด้วยคือ การสำรวจรอบ12เดือนในการใช้สารเสพติดช่วงโควิด ใน15จังหวัด อายุ15 ปี ขึ้นไป 1,825 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.พบว่า ถ้าเป็นสารเสพติดที่ใช้เพื่อการสังสรรค์ หรือเข้าสังคม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกระท่อมที่มีการผสมยาตัวอื่นๆ จะใช้น้อยลง แต่สารเสพติดที่ใช้เดี่ยวๆใช้เท่าๆกัน มีบางส่วนใช้น้อยลง อาจเพราะรู้ผลกระทบด้านสุขภาพ ทั้งนี้เทรนด์ทั่วโลกจะมองว่าคนที่เสพสารเสพติดที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ใช่อาชญากร เพื่อให้คนที่พลาดไปเสพติดกล้าที่จะเข้ามาสู่การรักษา ซึ่งสัมพันธ์กับผลรักษาที่ดีในคนที่สมัครใจ ถ้ามองว่าสารเสพติดก็เหมือนโควิด-19 หากเราป้องกันตัวดี สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ และเว้นระยะห่างดี ก็ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อได้ แต่ถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมา อย่าลืมว่าเราก็ยังมีทางรักษา การติดสารเสพติดก็เช่นเดียวกัน” รศ.พญ.รัศมน กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ หาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สารไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารที่อยู่ในพืชกระท่อม กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทำงานทน แต่มีงานวิจัยว่าสารดังกล่าวหากใช้ไปนานๆ จะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งด้านความคิด ความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ตนจึงจะมีการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับไมทราไจนีน ในเลือดกับผลกระทบต่อสมองของคนที่ใช้พืชกระท่อมในกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้พืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านเป็นประจำ คือมากกว่า1 ปี กลุ่มตัวอย่างที่ ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎธานี จำนวน 220 คน คาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปี 2563 และทันต่อการใช้ประกอบการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมได้
“เราจะดูว่าสารไมทราไจนีนในเลือดเทียบกับภาวะสมอง มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ หากกินมากขึ้นจะทำให้สาระสำคัญในเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้นแค่ไหน เทียบกับคนที่กินไม่มาก และคนที่มีความเข้มข้นของสารดังกล่าวเยอะนั้นจะทำให้การทำงานของสมองแย่ลงจริงหรือไม่ แย่ลงมากกว่าคนที่กินน้อยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เราต้องหาคำตอบ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง”ผศ.ดร.สมชาย กล่าว
นางสาวสุพจนี ชุติดำรง ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาสารสนเทศด้านลดอุปสงค์ สำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (สนง.ป.ป.ส.) กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา ปปส. พบว่าชุมชนและสังคมมีอิทธิพลสูงทำให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นแผนการดำเนิงานด้านการป้องกันยาเสพติดในกลุ่มเยาวชน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.เน้นสร้างเสริมความรู้ ทัศนคติ เจตคดิ ภูมิคุ้มกันให้กับตัวบุคคลทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง 2.ต้องสร้างพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะเชื่อว่าหากเด็กและเยาวชนเห็นว่ายาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดี บวกกับการได้อยู่ในชุมชนที่ดี โอกาสที่เค้าจะเติบโตเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดก็มีเปอร์เซ็นต์สูงเช่นกัน
ด้าน นายสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ หรือ ม๊อบ เยาวชนที่เคยมีประสบการณ์คนในครอบครัวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด กล่าวว่า ตนโตมาท่ามกลางปัญหายาเสพติด ชุมชนเป็นพื้นที่เสี่ยง เมื่อปี2546 ตอนนั้นอายุ6ขวบ ได้สูญเสียพ่อที่ถูกวิสามัญในข้อหาผู้ค้ารายใหญ่ ส่วนลุงเสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาด และเคยถูกคนในชุมชนใช้ให้ไปส่งยาเพื่อแลกกับเงิน เหตุการณ์ที่ผ่านมากลายเป็นแรงกะตุ้นที่สอนให้เริ่มรู้จักปฏิเสธ และเมื่อมีโอกาสได้ทำกิจกรรมรณรงค์เกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้มีภูมิคุ้มกันหนักแน่นในอุดมการณ์ พร้อมที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการชักจูงเด็กในชุมชนมาทำกิจกรรมยามว่าง เช่น ตีกลองยาว เชิดสิงโตเด็ก ทำสิ่งประดิษฐ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และยังเป็นการช่วยให้ชุมชน ครอบครัวเข้มแข็งมีความสุข
No comments