กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดงานพิธีปิดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การตลาดท่องเที่ยว (Agro Journey Hunter) พร้อมประกาศผลสุดยอดชุมชนต้นแบบ SE Hero ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหชุมชน/OTOP ก้าวสู่ความสำเร็จ เพื่อต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรม ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ; กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จัดงานพิธีปิดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การตลาดท่องเที่ยว “Agro Journey Hunter : เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม สู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ” กิจกรรมพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ให้เกิดการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่ชุมชน ต่อยอดออกมาเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงเกษตรอุตสาหกรรมเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวชุมชนเพื่อเฟ้นหาต้นแบบชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมวิถีชุมชนที่มีศักยภาพและพร้อมปรับตัวเข้าสู่ตลาดการขายช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน โดยช่วงคิกออฟกิจกรรมได้มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/ OTOP กว่า 200 ราย จากทั่วประเทศที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะและดึงศักยภาพก่อนการแข่งขันรอบแรกที่คัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/ OTOP จนได้ผู้เข้ารอบทั้งหมด 60 ราย
โดยแบ่งออกเป็น 5 ทีมจากทุกภูมิภาค ได้แก่ ทีม Green Diamond เพชร(สม)บูรณ์ จากจังหวัดเพชรบูรณ์, ทีม ME-NARA ชุมชนคนใต้ จากจังหวัดนราธิวาส, ทีมชวนชมนครคง จากจังหวัดนครราชสีมา, ทีมสุขสุราษฎร์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี, และ ทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้ง 5 ทีมจะได้ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้นกับเหล่า Mentor ผู้เชี่ยวชาญประจำทีมเพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เชิงเกษตรอุตสาหกรรมออกมาเป็นคอลเลคชั่นสินค้าที่สะท้อนภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละชุมชนพร้อมเชื่อมโยงสู่เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการคัดเลือกสุดยอดต้นแบบชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมวิถีชุมชน SE Hero (Social Enterprise Hero) ในพิธีปิดกิจกรรมครั้งนี้ โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดชุมชนต้นแบบ ได้แก่ ทีมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสร้างป่า สร้างรายได้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนรางวัล Popular Vote ได้แก่ ทีมชวนชมนครคง จากจังหวัดนครราชสีมา
ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า “จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Covid-19 ที่อยู่กับคนทั่วโลกมาจนเข้าปีที่ 3 แล้ว หลายภาคส่วนทั้งในประเทศและในระดับโลกต่างก็ได้รับผลกระทบ จึงเป็นวาระสำคัญระดับประเทศแล้วที่ทุกคนจะต้องมีการตื่นตัวต่อการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเหล่าผู้ประกอบการระดับชุมชนที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศล้วนมีบทบาทสำคัญในภาค “เกษตรอุตสาหกรรม” เป็นเสมือนกำลังหลักในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจนนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจระดับประเทศได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้นการสนับสนุนผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั่วประเทศให้เกิดการเรียนรู้ และเสริมสร้างความเข้าใจที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อการพัฒนาสินค้าและบริการในปัจจุบันที่เศรษฐกิจรูปแบบออนไลน์เข้ามามีบทบาทจึงมีความสำคัญอย่างมาก
หากศึกษาจากพฤติกรรมการเลือกเสพสื่อฯ รวมทั้งการใช้จ่ายซื้อสินค้าของคนในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะวัยรุ่นไปจนถึงคนสูงอายุในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จะสังเกตได้ว่า คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้ Online Platform ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ แทนการเข้าสังคมแบบเจอหน้า หรือ การออกไปซื้อของตามร้านค้า วัดได้จากยอดการเปิดบัญชีของ Social media ที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เรา “กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” ในฐานะตัวแทนภาคเกษตรอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงเกษตรอุตสาหกรรมพร้อมกับการเชื่อมโยงสู่การตลาดท่องเที่ยว และยินดีที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายสามารถพัฒนาศักยภาพ เสริมองค์ความรู้ให้มีความพร้อมในการแข่งขันบนตลาดออนไลน์ยุคปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมสู่การตลาดท่องเที่ยว “AGRO JOURNEY HUNTER : เส้นทางวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรมสู่การท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ” ในครั้งนี้
ทั้งนี้ในช่วงการดำเนินกิจกรรมได้มีโอกาสเห็นกระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการบ่มเพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP การลงพื้นที่ไปสัมผัสประสบการณ์ของต้นกำเนิดและแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์จากชุมชน ตลอดจนได้เรียนรู้และมองเห็นถึงศักยภาพทั้งในตัวพื้นที่ชุมชนและในตัวของทีมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ทั้ง 5 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาจนถึงรอบนี้
จึงหวังว่า การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยปลุกศักยภาพ และเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสินค้าและบริการให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและเชื่อมโยงกับการตลาดท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ชุมชน จนสามารถดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆ และกลุ่มผู้สนใจผลิตภัณฑ์จากชุมชน ทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นในชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการชุมชนและกระจายต่อไปยังคนในชุมชนทุกครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอขอบคุณ ทีมงานกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คุณสมศักดิ์ บุญคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด ที่มาร่วมเป็นที่ปรึกษาตลอดการดำเนินกิจกรรม พร้อมทั้งเหล่า Mentor ของทีมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน/OTOP ที่เข้ารอบทั้ง 5 ทีมที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนได้สร้างสรรค์คอลเลคชั่นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและสวยงามอย่างที่ทุกท่านได้ชมภายในงานนี้"
นอกจากนี้ยังภายในงานยังมีการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมเสวนาในหัวข้อ “มุมมองผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงเกษตรที่เชื่อมโยงกระแสรักษ์โลกและทิศทางคอนเทนต์ท่องเที่ยวชุมชนในสื่อออนไลน์” นำทีมวิทยากร โดย คุณศิรพันธุ์ วัฒนจินดา ผู้ก่อตั้ง ECO LIFE , คุณสมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Local Alike และคุณชนินทร จิตปรีดา จาก Wongnai Travel ร่วมพูดคุย และรวมถึงกิจกรรมโชว์เคสผลงานผลิตภัณฑ์ของทั้ง 5 ทีม พร้อมจัดแสดงให้กับผู้ที่มาร่วมงานได้ชมกัน ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
No comments