Breaking News

มูลนิธิซิตี้ คีนัน และ ก.แรงงาน ผนึกกำลังภาคีติดปีกเยาวชนขาดโอกาส สร้างความพร้อมด้านธุรกิจออนไลน์ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

 

31 มกราคม 2565 – มูลนิธิซิตี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมปั้นโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน หนุนพัฒนาทักษะด้านออนไลน์ให้แก่เยาวชนที่ ขาดทุนทรัพย์เพื่อสร้างแรงงานมีฝีมือในอนาคต พร้อมจัดเสวนา “เสริมทักษะ สู่งาน สร้างเยาวชน” หาทางออกการจ้างแรงงานและเสริมทักษะให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ คู่กับการเปิดตัวสถาบัน Kenan Micro and SME Academy ของคีนันอย่างเป็นทางการวันนี้

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อโอกาสในการประกอบอาชีพของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) พบว่าในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2564 ประเทศไทยประสบกับภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 8.7 แสนคน จากจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าว เป็นกลุ่มเด็กจบใหม่ถึงเกือบ 3 แสนคน ซึ่งการว่างงานเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัว รวมถึงโอกาสที่จะได้เข้าสู่ตลาดแรงงานจะยากยิ่งขึ้น มูลนิธิซิตี้ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Aspiring Hospitality Workers of Tomorrow Initiative)

โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้กลุ่มเยาวชน
คนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสสามารถเข้าถึงการอบรมเสริมทักษะ และงานที่มั่นคงในภาคการโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มโรงแรมชั้นนำ ได้แก่ โรงแรมคอนราด โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท และโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ทั้งยังได้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ช่วยพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักการ และตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ช่วยเสริมความพร้อมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนาโดย Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้รับการเตรียมความพร้อมให้ได้รับการจ้างงานที่มีคุณภาพ และเพิ่มประสบการณ์การทำธุรกิจออนไลน์ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางอาชีพทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในอนาคต ซึ่งในปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 32 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 340 คน แบ่งเป็นพนักงานโรงแรมระดับเริ่มต้นและอดีตพนักงานโรงแรมที่ถูกเลิกจ้าง 171 คน และนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 169 คน

เนื่องในโอกาสที่โครงการฯ ได้ดำเนินการมาจนถึงระยะสิ้นสุดโครงการในปีที่ 2 ทางมูลนิธิซิตี้ และคีนัน จึงได้จัดงานเสวนาในหัวเรื่อง “เสริมทักษะ สู่งาน สร้างเยาวชน” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน องค์การยูนิเซฟ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ บริษัทไลน์แมนวงใน และโรงเรียนเกริกวิทยาลัย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต้องเผชิญ ในการเข้าถึงทักษะแรงงานที่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพในอนาคต และการเข้าถึงงานที่มีคุณภาพ โดยเสวนานี้มีขึ้นในวันนี้ เวลา 10:00 – 11:00 น.และได้มีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุคของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและ Kenan Foundation Asia

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่คือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมและนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิซิตี้เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนนานาประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในมากกว่า 80 ประเทศ ภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม Pathway to Progress โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการเสริมพลัง เสริมประสบการณ์การทำงานและความรู้ทางการเงิน บ่มเพาะพื้นฐานความคิดแบบผู้ประกอบการ รวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถสร้างอนาคตที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเยาวชนและครอบครัว รวมถึงมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน”

ด้าน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “คีนันเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ดำเนินงานในประเทศไทยมานาน 25 ปี ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้รับประโยชน์กว่า
3 ล้านคน ทั้งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก สมาชิกชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการศึกษา นักเรียน และกลุ่มผู้ขาดโอกาส ในปีนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคีนันที่ได้ทำการเปิดตัว Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอนาคต”

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ และรองประธานกรรมการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า“คีนันขอขอบคุณมูลนิธิซิตี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ มาโดยตลอด และหวังว่าจะได้ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างบูรณาการเพื่อตอบโจทย์สังคมแห่งความหลากหลายและเท่าเทียมต่อไป”

นายเฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าว “นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของคนทุกระดับในสังคม ซึ่งได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการประกอบอาชีพโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด และตระหนักดีถึงความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังการจบการศึกษาภาคบังคับถึงปีละประมาณ 150,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก หากได้มีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาดแรงงาน หรือแนวโน้มการประกอบอาชีพของยุคสมัยก็จะช่วยให้นักเรียนดังกล่าวมีฐานะเป็น “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัวให้ดีขึ้นได้”

“โครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานถือเป็นโครงการตัวอย่างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นโครงการนี้ ยึดแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เนื่องจากการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถดำเนินได้สำเร็จลุล่วงโดยราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด” นายเฉลิมพงษ์ ทิ้งท้าย

No comments