Breaking News

สกสว. จับมือ สภาอุตสาหกรรมฯ ตั้งกองทุนนวัตกรรม ตั้งเป้า 2 พันล้าน ใน 3 ปี หนุนเอสเอ็มอีผ่านกลไก Matching Fund

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) หารือแนวทางการร่วมสนับสนุนทุนให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งเป้า 3 ปี (ปีงบประมาณ 2565 – 2567) ลงทุนร่วมกัน 2,000 ล้านบาท

12 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) โดย มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม จัดการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านกลไกกองทุนร่วมลงทุน หรือ Matching Fund  ระหว่าง กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ภายใต้การดำเนินการของ สกสว. และกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ที่ร่วมจัดตั้งโดย ส.อ.ท. โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมเพื่อหนุน SMEs ให้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย  รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแล และปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน   นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายวิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล กรรมการสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) ดร.นฤกมล ภู่ขาว  ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรม พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานร่วมกัน

โอกาสนี้ รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ เปิดเผยข้อมูลว่า  การระดมทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  ของประเทศ  ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สกสว.  ดังที่มีการระบุไว้ในกลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564-2566 (ฉบับทบทวน) ว่า “สกสว. ต้องระดมและร่วมลงทุนกับกองทุนและหน่วยงานอื่น เพื่อเพิ่มและกำกับทิศทางงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ เพื่อเป็นการกำหนดกลยุทธ์ในการร่วมทุนด้าน ววน. ตลอดจนกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือดำเนินงาน ก่อให้เกิดการระดมทุนและเพิ่มการลงทุนด้าน ววน. โดยพิจารณาทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร”  
 
ทั้งนี้ในส่วนของกองทุนนวัตกรรมฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.)  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติได้ ตลอดจนสร้างโอกาสในการแข่งขันให้ธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศบนฐานนวัตกรรม โดยเงินงบประมาณของกองทุนนวัตกรรมฯ จะใช้ในการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมที่มีศักยภาพและเกิดผลกระทบด้านการผลิตการค้า การลงทุน การตลาดและการจัดการ รวมถึงโครงการที่สามารถเห็นผลลัพธ์เร็ว (Quick-win) ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยผู้ที่จะขอรับการสนับสนุนทุนนี้คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิต หรือผู้ประกอบการที่พัฒนาเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมและเป็นคู่ค้ากับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มูลค่างบประมาณไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อโครงการ และผู้ประกอบการที่ได้รับทุนจะต้องร่วมสนับสนุนงบประมาณในลักษณะเงินสด (in-cash) ร้อยละ 20 ของมูลค่างบประมาณโครงการ  ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 

สำหรับแหล่งงบประมาณของกองทุนนวัตกรรมฯ ที่ สกสว. ร่วมลงทุนผ่านกองทุนจะได้มาจากการระดมทุนจากภาคเอกชนที่บริจาคเข้ากองทุนเป็นช่องทางหลัก ทั้งนี้ในระยะเริ่มแรกจะมีการสนับสนุนเงินงบประมาณจากภาครัฐและเอกชน ผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. และ กองทุนนวัตกรรมฯ  ในสัดส่วน 50 : 50 เป็นระยะเวลา 3 ปี ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณรวมไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 นี้ ตั้งเป้าการลงทุนร่วมกัน หน่วยงานละ 200 ล้านบาท ปีที่ 2 หน่วยงานละ 300 ล้านบาท และปีที่ 3 หน่วยงานละ 500 ล้านบาท ทั้งนี้ สกสว. ได้ตั้งคณะทำงานสนับสนุนกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานคณะทำงาน เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนนวัตกรรมให้บรรลุเป้าประสงค์ การประชุมหารือในวันนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อบังคับ การสนับสนุนทุนผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. และ กองทุนนวัตกรรมฯ ตลอดจน แผนการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. และ ส.อ.ท. ต่อไป

No comments