Breaking News

วช. หนุน นักวิจัย ม.อ. ลงพื้นที่นำงานวิจัยพัฒนาแพะภาคใต้ ให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ

 

แพะ ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่เป็นคนไทยอิสลาม จึงทำให้แพะเป็นที่ต้องการเพราะใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากแพะเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถหากินใบไม้ใบหญ้าได้เอง ทั้งยังให้ผลผลิตเนื้อและนม เนื้อแพะเป็นอาหารที่มีโปรตีนที่ย่อยได้ในระดับสูงกว่าเนื้อวัว หมู และไก่ มีไขมันในระดับต่ำกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ นมแพะมีคุณค่าทางอาหารสูง ใกล้เคียงหรือสูงกว่านมโค กระบือ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงส่งเสริมและสนับสนุนทุนให้ แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและชุมชน สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหาจากเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อนำมากำหนดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาด้านแพะ ให้เลี้ยงแพะของภาคใต้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจหลักของพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ กล่าวว่า แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ ทำอาชีพการเลี้ยงแพะให้เกิดรายได้ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทีมวิจัยได้กำหนดแผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 เริ่มจากหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องการบริโภคแพะและห่วงโซ่การผลิตแพะของภาคใต้เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการผลิต พร้อมคิดวิธีการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนมในภาคใต้ผ่านกระบวนการวิจัยด้านอาหาร การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ และการจัดการสุขภาพแพะ รวมถึงนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยไปพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการเลี้ยงแพะ ให้มีกระบวนการการแปรรูปเนื้อแพะ และน้ำนมแพะดิบมีให้มีมาตรฐานสู่ผู้บริโภค

ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ “ต้นกล้าฟาร์ม” ตั้งอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และเก็บตัวอย่างแพะเพื่อนำไปพัฒนาชุดตรวจโรคเมลิออยโดสิส รวมถึงมีการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางจุลชีววิทยาของน้ำนมดิบที่สุ่มเก็บมาจากเกษตรกร ทั้งนี้ ยังได้เจาะเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน และการตรวจรังไข่ด้วยการใช้เครื่องอัลตราซาวน์ของแพะทดลองเพื่อเตรียมการผสมเทียม การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลบ่งชี้สถานการณ์ปัจจุบันของโซ่อุปทานแพะเนื้อ ทราบถึงปัญหาของการเลี้ยงแพะนมในภาคใต้ โดยเฉพาะในภาคใต้ตอนล่างซึ่งมีการเลี้ยงแพะนมมากที่สุด และยังได้วางแผนปรับปรุงพัฒนาต้นแบบโรงแปรรูปนมแพะตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร และให้บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำนมแพะดิบในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงพัฒนาการสูตรอาหารสำหรับแพะเนื้อและแพะนม โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้มาใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบสูตรอาหาร นอกจากนี้ ทีมวิจัยได้ลงไปให้ความผู้ประกอบการในการแปรสภาพและชำแหละแพะให้แปรสภาพแพะให้ได้ตามมาตรฐานฮาลาลสากล อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ ยังกล่าวต่อว่า แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2565 ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การจำหน่ายแพะและผลิตภัณฑ์จากแพะ ในอนาคตแพะจะเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บริโภคจะเริ่มหันมาบริโภคเนื้อและนมแพะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เนื้อแพะมีราคาสูง จากที่เนื้อและนมแพะเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

No comments