สกสว. เปิดเวทีถกโจทย์ท้าทาย “การพัฒนากำลังคนสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่”
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์
รองผู้อำนวยการ สกสว.
ดร.วิกรม อาฮูยา
กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด
เมื่อวานนี้ (6 ตุลาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมหารือถึงการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” โดยวิทยากร 6 ท่าน ประกอบด้วย 1) ดร.วิกรม อาฮูยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด 2) คุณครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธาน กิจการองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 3) คุณกัลยภรณ์ อึ้งสมรรถโกษา ผู้จัดการอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โรเบิร์ต บ๊อช ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด 4) รศ.ดร.คมกฤตย์ ชมสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและระบบการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5) ดร.ศุภชัย หลักคำ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ 6) ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดย คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ โดยการประชุมในวันนี้ได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมจากทั้งแวดวงวิชาการและภาคเอกชน
โอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. โดยมีการจัดทำแผนด้าน ววน. ซึ่งเป็นแผนที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาแผนด้าน ววน. ปี 2563-2565 ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตามจะสังเกตุได้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีจุดมุ่งเน้นสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ฉบับปี 2566 – 2570 มีแผนงานสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป้าหมายเพื่อสร้างนวัตกรรมรวมถึงพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนตสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม สกสว. ได้จัดตั้งหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Agenda Team: SAT) ในด้านต่างๆ รวมถึงด้านยานยนตร์สมัยใหม่ เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ สนับสนุนการดำเนินงานของ สกสว. ให้ทันต่อสถานการณ์ สามารถปรับตัวในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปขับเคลื่อนระบบ ววน. ต่อไป
คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ
ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์
คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ ได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น เรื่อง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เปิดเผยว่า ภาพรวมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและสมรรถนะในมิติต่าง ๆ ต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในอดีตทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ซึ่งการจะไปสู่จัดมุ่งหมายนั้นปัจจุบันจากการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังคงขาดแรงงานที่มีทักษะในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่รวมถึงขาดกำลังคนด้านการวิจัยและพัฒนา และนอกจากนี้ปัจจุบันยังคงขาดความสมดุลในด้านการผลิตแรงงานซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันการพัฒนากำลังคนเข้าสู่อุตสาหรรมยานยนต์สมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้และทักษะเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) การพัฒนาระบบซอฟแวร์ต่าง ๆ รวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงวัสดุศาสตร์ในการกำจัดรถยนต์หลังหมดอายุใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้ว่ากำลังคนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้แบบพหุวิทยาการ นอกจากนี้การเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อาจทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นในอนาคต ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนากำลังเข้าเพื่อรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้
นอกจากนี้การประชุมในวันนี้ ยังได้มีการนำเสนอถึงความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จากผู้แทนทั้งกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ (Startup) บริษัทเอกชน รวมถึงผู้แทนจากภาควิชาการร่วมกันให้ข้อคิดเห็นความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อน ววน. เพื่อตอบโจทย์ในอนาคต
No comments