Breaking News

สกสว. เปิดเวทีถอดบทเรียนความสำเร็จ ‘อาษาเฟรมเวิร์ค’ ซอฟท์แวร์พัฒนา ‘App’ ฝีมือนักวิจัยไทยคุณภาพระดับโลก

 

14 ตุลาคม 2564 รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กำกับดูแลและปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน เป็นประธาน เปิดงานโครงการอบรมเสริมสร้างความรู้ “การสร้างนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์อาษาเฟรมเวิร์คเพื่อประยุกต์ใช้กับพันธกิจขององค์กร” ที่จัดขึ้นโดย สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน  เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้การนำโปรแกรมซอฟต์แวร์ “อาษาเฟรมเวิร์ค” (ARSA Framework) โปรแกรมที่ช่วยพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์การทำงานของผู้คนในมิติต่างๆ อาทิ นำไปใช้ในการผลิตสื่อการสอน สื่อการแพทย์ สื่อสำหรับส่งเสริม E-Commerce และวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยได้  ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทย ที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดทั้งจากในประเทศไทยและทั่วโลกแล้วกว่า 150,000 ครั้ง

รศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด   รองศาสตราจารย์ (คอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย) ประจำหลักสูตรปริญญาโทการจัดการ มรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (MCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนาอาษาเฟรมเวิร์ค เปิดเผยข้อมูลว่า “อาษาเฟรมเวิร์ค” คือ เฟรมเวิร์คหรือซอฟต์แวร์สำหรับสร้างแอปพลิเคชันในยุค 5G ที่สามารถเชื่อมโยงและรองรับการประมวลผล การแสดงผล การติดต่อสื่อสารผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) ได้แบบครบวงจร (One Stop Service) ซึ่งถูกพัฒนามาจากความตั้งใจแรกที่จะให้เป็นเพียงเกมเอนจิ้น (Game Engine) หรือ ซอฟต์แวร์โปรแกรมสร้างเกมเท่านั้น แต่ปัจจุบันคือซอฟ์แวร์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งทางด้านการนำไปสร้างปัญญาประดิษฐ์ด้วยอัลกอริทึม นำไปสร้างแผนการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทาง (Data Science) รวมถึงนำไปใช้ในการออกแบบแพลตฟอร์มต่างๆ ที่คำนึงถึง UX/UI (User Experience/User Interface) กล่าวคือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน อย่างเช่นสื่อทางด้านการแพทย์และการศึกษาในทุกระดับชั้น ตลอดจนประยุกต์ใช้พัฒนาแอปพลิเคชัน E-Commerce ส่งเสริมธุรกิจ SME และวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในประเทศไทยได้ ซึ่งปรากฎผลงานเป็นที่ประจักษ์และนำไปใช้งานจริงแล้วในหลายโครงการ เช่น แอปพลิเคชันวิสาหกิจชุมชนไร่ครูภักดี จังหวัดชัยภูมิ แอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู กรุงเทพฯ  แอปพลิเคชันวิสาหกิจชุมชนผ้าบาติกแม่นงค์ โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถ scale up ต่อยอดไปตามนโยบายของกระทรวง อว. โดยมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีนักศึกษาอยู่แล้วรับเป็นเจ้าภาพคอยจัดกำลังคน เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบให้เป็นวิสาหกิจที่มีตลาดเป็นแอปพลิเคชัน ดังตัวอย่างต่าง ๆ ที่ทำได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นต้น


โดยที่ผ่านมา ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานเด่น Thailand Tech Show 2019 จัดโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รางวัล IP Champion 2562 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ 2562 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รางวัลชนะเลิศการประกวด Thailand ICT Awards 2018 จากสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) และรางวัลชนะเลิศการประกวดซอฟต์แวร์ดีเด่น 2561 จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นต้น และยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัย 2561 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลการเผยแพร่ผลงานสร้างสรรค์ 2560 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบัน อาษาเฟรมเวิร์ค  เปิดให้ประชาชนทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในรูปแบบของการทดลองใช้ฟรี เสียค่าบริการรายวัน รายเดือน หรือรายปี ที่ เว็บไซต์ www.arsa.ai

“จากการแลกเปลี่ยนความรู้กันในวันนี้ ทาง สกสว. เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากนี้ นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของไทยอย่างอาษาเฟรมเวิร์ค นั้นจะสร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้อย่างมากจากที่มีตัวอย่างการใช้ประโยชน์มาแล้วมากมาย  ถือเป็นตัวอย่างต้นแบบที่ดีของผลงานนวัตกรรมของคนไทยที่มีศักยภาพในระดับสากล ถูกนำไปใช้สร้างสรรค์งานหลายแวดวง โดยหลังจากนี้จะสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่ง ในการพัฒนางานและประยุกต์ใช้กับกลไกด้านการส่งเสริมการร่วมลงทุนของภาคส่วนต่างๆ เพื่อร่วมพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของที่สอดคล้องกับพันธกิจการทำงานของ สกสว. ต่อไป ” รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์  กล่าวทิ้งท้าย

No comments