Breaking News

สกสว. จับมือภาคีวิจัยไทย – อังกฤษ หนุนเวที COP26 รับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงช่วยภาคเกษตร

 สกสว. จับมือภาคีวิจัยไทย – อังกฤษ ร่วมหนุนเวที COP26รับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change ช่วยเหลือภาคเกษตร

UK Research and Innovation (UKRI) Natural Environment Research Council (NERC) สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ร่วมกันจัดงานสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “Sustainable and Inclusive Climate Adaptation and Resilience: Local Leadership for a Global Goal” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย (Showcase)  ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการทำงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกเรื่อง “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างความยืดหยุ่นให้ภาคเกษตร” ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ ‘COP26’ หรือ การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

 คุณ อเล็กซานดรา แมคเคนซี อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร การจัดงาน COP26 ถือเป็นการประชุมสำคัญระดับโลก ที่จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานรัฐแต่ละประเทศ ร่วมหารือกันถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การสัมมนาในวันนี้นับได้ว่าเป็นหัวข้อที่สำคัญและสอดคล้องกับการประชุม COP26 เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร การจัดงานในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักร จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาทางด้านสภาพภูมิอากาศและน้ำ ที่กำลังเกิดขึ้น

โอกาสนี้ ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวให้ข้อมูลว่า  ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  มีการสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อหารือแนวทางการทำงาน โดยคำนึงถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับ  SDGs  หรือ  “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”  ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาโลกที่องค์การสหประชาชาติ (UN) หรือ “ยูเอ็น”  กำหนดขึ้นเพื่อให้โลกของเราเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ทั้งในด้าน สังคม เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม ภายในระยะเวลา 15 ปี  (พ.ศ. 2558 –  2573)   โดยจุดมุ่งเน้นของกระทรวงในปัจจุบันคือเรื่อง ข้าวและปศุสัตว์ การประชุมในวันนี้จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากงานวิจัยที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรของแต่ละประเทศได้

ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีประชากรที่อาชีพเกษตรกรถึง 40% ของประชากรทั้งหมด เช่นเดียวกับหลายประเทศในโลก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง น้ำท่วม ก็ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรที่เป็นภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ สกสว. ในฐานะหน่วยงานของประเทศไทย ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ได้จัดทำแผนด้าน ววน. 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2570)   โดยมีการออกแบบแผนวิจัยประเด็น BCG Economy Model หรือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในด้าน 1) อาหารและเกษตร 2) การแพทย์และสุขภาพ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมีโปรแกรมวิจัยย่อย เช่น ประเด็นการแก้ไขปัญหาการสูญเสียอาหารและขยะทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Resource Efficiency in Circular Economy) และทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในมิติด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเทศไทยก็ได้ออกแบบแผนที่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืนด้วยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สกสว. จะได้รับข้อมูลและองค์ความรู้วันนี้ เพื่อนำไปขับเคลื่อนการทำงานต่อไป
 
ในขณะที่ ดร.ซาราห์ เว็บบ์ รองผู้อำนวยการ NERC หรือ Natural Environment Research Council สถาบันวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจากสหราชอาณาจักร ภายใต้การดูแลของ UKRI กล่าวว่า ปัจจุบัน NERC มุ่งเน้นการทำงานวิจัย ที่สนับสนุนการแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของสหราชอาณาจักร การจัดงานในวันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยได้มาหารือร่วมกัน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ทั้งนี้จากกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ค้นพบว่านอกจากมิติทางด้านวิทยาศาสตร์แล้ว  การแก้ไขต้องคำนึงถึงมิติทางด้านสังคมศาสตร์ด้วย ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของโลก ที่ต้องหันมามองถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในทุกมิติด้วยเช่นกัน

No comments