Breaking News

รมว.อว. พบนักวิจัย “ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม”ชูนโยบายงานวิจัยมนุษยศาสตร์ดิจิทัล และหนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ ประธานคณะทำงานจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (ววน.) ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม (SAT-H) ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ในฐานะประธานที่ปรึกษา SAT-H รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ และรศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล กรรมการที่ปรึกษา SAT-H และนักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม เข้าร่วมงาน รมว.อว. พบนักวิจัย “ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม” “วิถีดิจิทัลในมนุษยศาสตร์ และเทคโนโลยีหนุนสุนทรียะ” และรับฟังแนวนโยบายการวิจัย แก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.)

โอกาสนี้ รศ.ดร.ณัฐมา พงศ์ไพโรจน์ นำเสนอภาพรวมคณะทำงานจัดการความรู้เพื่อพัฒนาระบบ ววน. ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม (SAT-H)  ว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำข้อมูลสนับสนุนการจัดทำแผนงานวิจัยและวิชาการของวิทยสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรม (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) อาทิ การประชุมระดมสมองแผนการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม การทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ด้านสุวรรณภูมิ และอื่น ๆ รวมถึงการจัดทำ Inception Report เรื่องสุวรรณภูมิศึกษา จากการจัดเวทีสาธารณะด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม จำนวน 3 ครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำแผน ววน. ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมปี 2566-2570 และจัดลำดับความสำคัญโจทย์วิจัยสำคัญ และ แผนงานย่อย ที่สามารถนำส่งผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่สำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัย

ก่อนจะเปิดให้มีการนำเสนอผลการวิจัย ประกอบด้วย (1) ท่องไปบนดวงดาว ก้าวลงบนดวงจันทร์: ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ในสังคมไทย โดย รศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (2) วิถีดิจิทัลในมนุษยศาสตร์ (Digital Humanities) โดย ผศ.ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) เทคนิคการออกแบบลายแบบพร่าเลือนในงานไหมมัดหมี่ โดย รศ.สมบัติ ประจญศานต์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (4) การออกแบบประติมากรรมบนที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วม โดย รศ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (5) มนุษยศาสตร์การแพทย์:การสร้างความรู้สึกร่วมระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยและพลังแห่งการเยียวยาเพื่อส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพผ่านงานวรรณกรรมและสื่อศิลปะ โดย ผศ.ดร.ธงรบ รื่นบรรเทิง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อภิปราย แลกเปลี่ยน พร้อมมอบแนวนโยบาย ว่า โครงการวิจัยที่นำเสนอในวันนี้ ทั้ง 5 โครงการ เป็นการวิจัยที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นมีน้อยมาก ทั้งที่เป็นงานวิชาการพื้นฐานที่จะนำไปทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในมิติอื่น รวมถึงกระบวนทัศน์ใหม่ที่เกี่ยวกับวิธีการคิดแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary paradigm) สร้างกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการศึกษา ค้นคว้า ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถ และ การพัฒนาให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ดังนั้นการกำหนดทิศทางและนโยบายการวิจัย จะต้องให้ความสำคัญต่อการวิจัยพื้นฐานของความรู้ในระดับสาขาวิชาอย่างจริงจัง ทั้งในทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรม และทางวิทยาศาสตร์ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีและผลผลิตในเชิงอุตสาหกรรม/เชิงพาณิชย์นั้นจะต้องมีรากฐานจากการวิจัยระดับพื้นฐาน เช่น การให้คุณค่าต่อการวิจัยทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ทฤษฎี เช่นเดียวกับการวิจัยทางทฤษฎีหรือปรัชญาด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานของการทำวิจัยอย่างอื่น สร้างทฤษฎีฉบับคนไทยโดยใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม

ควบคู่กับการทำวิจัยพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย “ข้ามศาสตร์” หรือ การบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์กับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ผ่านการส่งเสริมการทำวิจัยในสาขา”วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา” (Science and Technology Studies-STS) อันเป็นรากฐานความรู้ของการสร้างสังคมไทยให้มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง เนื่องจากการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ในปัจจุบัน มีผลต่อการสืบค้น เรียนรู้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มากขึ้น เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้หากเรียนรู้จากอดีต จะพบว่า ประเทศไทยมีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงได้ดีมาก อย่างการเปลี่ยนแปลงทางด้านศาสนาในยุคสมัยเมื่อครั้งอดีต ที่งานวิจัยจะช่วยอธิบายให้คนไทยได้เข้าใจ และไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่แค่การตั้งรับ แต่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก ขณะเดียวกันงานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาแล้วยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ทั้งในมิติของการพัฒนากำลังคน สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ บนฐานวัฒนธรรมที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก

No comments