เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิง ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เรียกร้องเปิดสถานบันเทิงในพื้นที่นำร่อง 28 จังหวัด เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น หลังไทยเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65
วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยมีนายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสารเป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูและบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวครบวงจร ปลอดภัย และยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของการท่องเที่ยวไทยในระดับภูมิภาค ต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมี ดร.มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง ณ ทำเนียบรัฐบาล
นายสง่า เปิดเผยว่า
เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
นายสง่า เปิดเผยว่า เครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ประกอบด้วย สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหาร สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหาร สมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และสมาคมบาร์เทนเดอร์ไทย รวม 231 ราย ได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยระบุว่าช่วงก่อนวิกฤติโควิดภาคธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้รวมให้กับประเทศเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และมีการจ้างงานรวมเกินกว่าล้านตำแหน่งงานทั่วประเทศ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 25 เดือน ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านค้าและสถานประกอบการในแหล่งท่องเที่ยว สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น จากการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของรัฐอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการปิดกิจการ จำกัดการเดินทาง จำกัดเวลาและรูปแบบกิจการกิจกรรม และจำกัดจำนวนคน ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการอย่างถาวรเนื่องจากขาดรายได้และขาดสภาพคล่อง สร้างความเดือนร้อนแก่แรงงานและครอบครัวเนื่องจากสูญเสียรายได้และขาดสวัสดิการ
นายสง่า กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีเป้าหมายการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรการและข้อจำกัดการเดินทางเข้าราชอาณาจักร การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เหลือเพียงพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการขยายเวลาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารจนถึง 24.00 น. ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา นั้น ถือเป็นการดำเนินการสำคัญในการประกาศความพร้อมของประเทศไทยต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ส่งเสริมบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อภาคการท่องเที่ยวและบริการ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคและการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคภายในประเทศ เพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจและต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยมีภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม การบันเทิงหย่อนใจ และการบริการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งนี้
“การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ในวันนี้ มีประเด็นสำคัญคือการขอให้ยืนยันการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 พร้อมเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยพิจารณาการบูรณาการการใช้กฎหมาย “ปกติ” อย่างมีประสิทธิภาพยกเลิกมาตรการลงทะเบียนใน Thailand Pass สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยในทุกช่องทาง รวมถึงประชาสัมพันธ์เป็นการล่วงหน้าก่อนการเปิดประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและกลุ่มไมซ์ (MICE: Meeting, Incentive, Conventions and Exhibitions) กลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง รวมถึงอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยระยะทดลอง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เฉพาะในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 28 จังหวัด โดยแบ่งเป็นเปิดให้บริการได้ทั่วทุกพื้นที่ 16 จังหวัด และเปิดในบางพื้นที่ 12 จังหวัด รวมทั้งเปิดดำเนินการทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมาความเสียหายของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงมีมูลค่านับแสนล้านบาท หากรัฐบาลเปิดประเทศ ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาและเงินทุนในการฟื้นฟูธุรกิจหลังจากถูกปิดไปเป็นระยะเวลานาน เสมือนการเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ทั้งการเรียกพนักงานกลับมาทำงาน การปรับปรุงสถานที่ เป็นต้น และจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวในช่วงซัมเมอร์เบรกของต่างชาติและช่วงปลายปี เชื่อว่าหากภาครัฐเห็นด้วยกับข้อเสนอที่นำเสนอในวันนี้ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศให้กลับคืนมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง จึงอยากให้รัฐบาลเห็นใจผู้ประกอบการกลุ่มนี้ด้วย” นายสง่ากล่าวย้ำ
No comments