Breaking News

นักเรียนพิการทำได้ ทีม “รร.โสตศึกษานครปฐม” คว้าแชมป์ KidBright For All โครงการสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ด้วยบอร์ด KidBright


          (วันที่ 2 กรกฎาคม 2565) ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดกิจกรรมประกาศรางวัล KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright หรือบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค-สวทช. 

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ นางสาววันทนีย์ พันธชาติ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ผู้แทนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สพฐ. คณะกรรมการตัดสิน ครูและนักเรียนพิการรวมกว่า 250 คนเข้าร่วมงาน

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมประกาศรางวัล KidBright for All : โครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ของนักเรียนพิการ เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และกองทุนส่งเสริมและพัฒนการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของกลุ่มนักเรียนพิการโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ตลอดจนให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียน โดยมีครูและนักเรียนพิการเข้าร่วมจำนวน 26 โรงเรียน และทาง สวทช. โดย เนคเทค เป็นผู้สนับสนุนบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการขยายผล จำนวน 50 บอร์ดต่อโรงเรียน ทั้งนี้ได้นำหลักสูตรและกิจกรรมที่ดำเนินงานกับโรงเรียนนำร่องของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มาใช้ในการอบรมให้ความรู้แก่ครูและนักเรียนพิการตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐาน การใช้เซนเซอร์ต่าง ๆ และบอร์ดขยายความสามารถร่วมกับบอร์ด KidBright ไปจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ซึ่งคณะครูที่เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ไปขยายผลจัดกิจกรรมการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนเพิ่มเติมในวงกว้างร่วมด้วย

นางกุลประภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัด สพฐ. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ สวทช. ดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright” ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ในการใช้งานบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 26 โรงเรียน ซึ่งการแข่งขันตลอด 2 วัน ปรากฏว่า ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ โครงงานการแจ้งเตือนความปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอดด้วยระบบควบคุมอัจฉริยะ จากโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โครงงานระบบช่วยเหลืออัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จากรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โครงงานระบบเตือนภัยการขับขี่จักรยานสำหรับคนพิการทางด้านการได้ยิน จากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นเวทีการประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 26 โรงเรียนในการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ร่วมกับการใช้กระบวนความคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม มาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวตามจินตนาการของตนเองหรือทีม โดยมีการวางแผนการสร้างโครงงานอย่างมีระบบและขั้นตอนให้ทำงานตามเป้าหมายจนได้ข้อสรุปหรือผลสรุปที่เป็นคำตอบในเรื่องนั้นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเรียนรู้ได้ง่าย เกิดความเข้าใจจากภาพที่เห็นและสามารถต่อยอดที่จะไปเขียนโค้ดด้วยคำสั่งอื่นต่อไปได้

ศาตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ศาตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะของนักเรียนพิการให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจและส่งเสริมทักษะขั้นพื้นฐานในการนำข้อมูลสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลไปสร้างนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นได้จากผลงานที่นักเรียนและครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการ สามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมมาพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยบอร์ด KidBright ได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นความสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนทุกกลุ่ม รวมทั้งนักเรียนพิการให้เข้าถึงความรู้และเท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้นโครงการส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการจึงเป็นอีกโครงการฯ ที่มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้ริเริ่มขึ้นในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวจาก 10 โรงเรียนเมื่อปี 2561 จนสามารถขยายผลการดำเนินงานไปยัง 26 โรงเรียนทั่วประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ที่ต้องการให้หน่วยงานต้นสังกัดได้ดำเนินการต่อยอด ขยายผลการดำเนินงาน ให้นักเรียนพิการได้มีโอกาสเรียนรู้โค้ดดิ้งเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป

นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย
ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ด้าน นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาของประเทศ ให้ความสำคัญกับการศึกษาพิเศษ และตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายโค้ดดิ้ง (Coding) ด้วยการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดแบบมีตรรกะ และมีระบบในการแก้ปัญหา สามารถวางแผนการจัดการอย่างเป็นขั้นตอนในการดำเนินชีวิต การจัดการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ Coding เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู นักเรียนและผู้ปกครอง เข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน จึงมีความจำเป็นที่ต้องเริ่มพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนพิการต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่า Coding คือ ทางรอดของทุกวิกฤต โดยใช้ภาคการศึกษานำและใช้กลไกของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าเมื่อมีการเรียน Coding ในระดับที่สูงขึ้น จะสามารถสร้าง Platform ของประเทศไทยได้เองเพื่อสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในที่สุด

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1


รางวัลชนะเลิศ

“เราจะสร้างองค์ความรู้และปลูกฝัง Coding ให้กับประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งนโยบาย Coding For All ได้ถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง นับว่าประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าไปอย่างมาก มีคณะทำงานและคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนในหลายภาคส่วนอย่างเป็นระบบ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ก็สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเร่งกระจายการเรียนรู้ Coding ไม่เฉพาะแต่ครูและนักเรียนเท่านั้น แต่ต้องกระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกช่วงวัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงการปูพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษาไปถึงเด็กทุกคนโดยไร้ขอบเขต สร้างโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ รวมถึงการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี”


อย่างไรก็ตามกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ยินดีให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียน Coding สำหรับนักเรียนพิการด้วยบอร์ด KidBright ในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้าน Coding ผ่านการใช้งานบอร์ด KidBright ซึ่งเป็นบอร์ดสมองกลฝังตัว ผลงานวิจัยของสวทช. โดย เนคเทค ให้แก่ครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียน ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 26 โรงเรียนต่อไป


No comments