Breaking News

สกสว.ชูแผนการวิจัย การท่องเที่ยวหลังโควิด-19 เน้นผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวไทย ด้วยอนาคตภาพ

 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมอนาคตภาพ (Future Scenarios) การท่องเที่ยว หลังโควิด-19 โดยความร่วมมือของ สกสว. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ นำเสนอผลการศึกษาเชิงระบบ เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวถึงการสนับสนุนการวิจัย ว่า สกสว.เป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำกรอบงบประมาณและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยมีแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ 2 แนวทาง คือ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐานที่ตอบสนองแนวนโยบายระดับชาติ ตามพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ ตามแผนงานสำคัญและแผนงานย่อย ซึ่งบริหารจัดการโดยหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) หรือ หน่วยบริหารจัดการแผนงานที่ กสว.มอบหมาย

ด้าน ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. กล่าวถึงแนวทางการจัดทำแผน ววน.ประเด็นการท่องเที่ยว ว่า ประเด็นการท่องเที่ยว เป็นประเด็นที่ สกสว. ให้ความสำคัญ และกำหนดไว้ในแผน ววน.ของยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทย ด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ใหม่ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคตโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้มีนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่มาเยือนซ้ำและมีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ ประเทศไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวคุณภาพที่มุ่งเน้นคุณค่า การสร้างสรรค์ และความยั่งยืนสูงขึ้น และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว

ในส่วนของการขับเคลื่อนการวิจัยด้ายการท่องเที่ยวนั้น สกสว.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการดำเนินงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ในไทย ให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และการใช้ประโยชน์จากวิจัย เช่น การรับมือของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ที่ประกอบไปด้วยโครงการย่อย การพัฒนาศูนย์ข้อมูลดิจิทัล เพื่อการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย การพัฒนาองค์กรอาสาสมัครการท่องเที่ยวไทยเพื่อความยั่งยืน การยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพเพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายหลังภาวะวิกฤต การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ: สปาล้านนา / Global Healthcare Accreditation (GHA) WellHotel / Global Biorisk Advisory Council (GBAC STAR) และ การยกระดับความสามารถการแข่งขัน/พลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวบนฐานทุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อการท่องเที่ยวบนฐานทุนทางวัฒนธรรมในเขตเมือง

ขณะที่ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศ และข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงระบบในประเด็นการท่องเที่ยว ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทย ไม่มีการศึกษานโยบายสาธารณะด้านการท่องเที่ยว ใช้การท่องเที่ยวเพื่อหารายได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มุ่งเน้นการลงทุนเรื่องของความรู้และนวัตกรรมของการท่องเที่ยว มองการลงทุนแบบไซโล คือ จุดการท่องเที่ยว หรือ เส้นทางการท่องเที่ยวเพียงจุดเดียว ขาดการเชื่อมโยงมิติอื่น ทำให้ฐานเศรษฐกิจแคบ ต่างจากประเทศอังกฤษที่ลงทุนกับการวิจัยท่องเที่ยวทุกมิติ ทำให้เกิดมูลค่าการท่องเที่ยวอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับเรื่องการบริหารจัดการ และ การพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการกระจุกตัวทางการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวของไทยยังคงมีการนำเสนอการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมแบบเดิม เหมือนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เคยเป็นสาวน้อยอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนั้น  

นอกจากสถานการณ์ที่กล่าวมา การแพร่ระบาดโควิด–19 ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความซับซ้อนมากขึ้น การแข่งขัน และ การขายแพ็กเกจจะยากมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวได้เปลี่ยนเป็นมนุษย์แพลตฟอร์ม ทั้งการจ่ายค่าบริการ อาหาร และการเดินทาง ดังนั้นการวิจัยเชิงระบบ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำแผนการวิจัยที่ตอบโจทย์ และ กำหนดผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ ที่สำคัญโดยทีมวิจัย ได้ทำการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานด้านการวิจัย จากการวิเคราะห์เอกสารการวิจัยที่ตีพิมพ์ และ งานวิจัยเก่าของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมแล้ว 3,824 โครงการ โดยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีงานวิจัยมากที่สุด 212 โครงการ

สำหรับข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงระบบ คือ ประเทศไทย ขาดการวิจัยในด้านมืด หรือที่เรียกว่า Dark Side ในลักษณะของสินค้าและบริการที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา และ การสร้างมุมมองใหม่ การสร้างเทคโนโลยีเพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพราะยุคเป็นเทคโนโลยีดิสรัปชัน ดังนั้นควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การที่นักท่องเที่ยวมาดูช้างหนึ่งตัว จะสร้างแรงจูงใจอย่างไรให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากติดตามพัฒนาการของช้าง แล้วรู้สึกอยากกลับมาหาอีกครั้ง หรือ ช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีรายได้มาเลี้ยงช้าง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม มีจุดขายอยู่มากมาย ไม่ใช่แค่ สมาย (smile) และ อเมซิ่ง (amazing)

No comments