Breaking News

“การใช้ประโยชน์งานวิจัยผ่านกลไก Provincial Think Tank” กรณีจังหวัดจันทบุรี

 


เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ทางโครงการ “การพัฒนากลไก Provincial Think Tank” ในการเชื่อมโยง demand-supply และผลักดันนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน:โมเดล 8 จังหวัดภาคตะวันออก” ซึ่งมี ผศ.ดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ได้จัดงานเสวนา “การประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการส่งมอบงานวิจัยให้หน่วยงานในพื้นที่ใช้ประโยชน์ผ่านกลไก Provincial Think Tank” โดยมีเป้าหมายในการนำเสนอโมเดล “Provincial Think Tank” ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนใน 8 จังหวัดภาคตะวันออกและหารือแนวทางในการร่วมขับเคลื่อนโมเดลดังกล่าวให้สามารถเป็นกลไกในการเชื่อมโยงความต้องการงานวิจัยในพื้นที่กับแหล่งความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้จำนวนมากในระบบ ววน.เพื่อนำไปสู่การใช้ยกระดับหรือพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาระบบและกลไกกลางในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในภาพประเทศต่อไป

โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรม นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดจันทบุรี รองศาสตราจารย์ ดร. สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สนใจเข้าฟังการเสวนากว่า 50 คน

นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าเรื่องของความรู้เกี่ยวกับไม้ผล ภาคการเกษตร และเรื่องของอัญมณี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีมาช้านาน แต่ปัจจุบันได้มีการนำนวัตกรรมต่างๆของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่ได้ทำการศึกษาและนำผลการศึกษาไปใช้ประโยชน์ เข้ามาเพิ่มศักยภาพผลผลิตของจังหวัด ทางจังหวัดจันทบุรีสนับสนุนอย่างยิ่งที่จะให้มีการนำเอาผลงานวิจัยของหน่วยงานต่างๆที่ได้รับงบประมาณวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. ไปลองปฏิบัติจริง และต่อยอดออกไปสู่การทำให้เกิดรายได้ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าให้กับจังหวัดจันทบุรี โดยสนับสนุนกลไก provincial think tank ที่จะมาทำงานเชิงรุกในการเชื่อมโยงข้อมูลงานวิจัยที่มีประโยชน์มาส่งต่อและนำเสนอให้กับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดไปใช้ประโยชน์

นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า วันนี้สมาชิกหอการค้าไทยของภาคตะวันออกมาเข้าร่วมประชุมจำนวนมากเพราะเห็นความสำคัญของงานวิจัย ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกันกับ ม.บูรพา และ สกสว. เป็นเวลานาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดจันทบุรีเป็นอย่างมาก นโยบายที่มีมาจากส่วนกลาง หรือหน่วยงานต่างๆ ถ้าจะให้มีผลดีต่อประชาชนก็ต้องส่งมายังส่วนภูมิภาค ต้องมีการมอบอำนาจให้พื้นที่สั่งการและทำงาน ตัดสินใจด้วยตัวเองให้ได้ และมีทรัพยากรบางอย่างให้พื้นที่เป็นคนจัดการเอง ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย หลังการระบาดของโควิด-19 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปมาก มีข้อตกลงทางการค้าใหม่ๆ ออกมาอีกมาก แต่ละจังหวัดในภาคตะวันออกมีจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละจังหวัด แต่สิ่งที่ขอฝากไว้คือความต้องการงานวิจัยในพื้นที่ไม่ได้มีเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังต้องการงานวิจัยด้านสังคมรวมไปถึงงานวิจัยที่จะไปขยายช่องทางตลาดใหม่ๆอีกด้วย

นายธิติ เอกบุญยืน ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดจันทบุรี และนายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดจันทบุรีกล่าวสนับสนุนให้มีกลไก provincial think tank นี้ เพราะภาคเอกชนและเอกชนในพื้นที่มีความต้องการงานวิจัยไปใช้จำนวนมาก ทั้งเรื่องอัญมณี การประมง เกษตรแม่นยำ การแปรรูปผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากจะฝากไว้ นอกเหนือจากการนำงานวิจัยเดิมไปสู่การใช้ประโยชน์แล้ว สำหรับงานวิจัยใหม่ๆอยากให้มีการนำความต้องการของทั้งเอกชนและเกษตรกรในพื้นที่ไปใช้ในการกำหนดโจทย์วิจัยใหม่ๆด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงโมเดล การใช้ประโยชน์ “Provincial Think Tank” ซึ่งทาง สกสว. ได้คิดขึ้นขณะมีการเสวนานี้ โดยภาพรวมคือ ในมุมของ สกสว. ประการแรกที่อยากเห็นคือต้นแบบของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่อยากเห็นการสนับสนุนทุนที่จะจบลงเป็น Project-based ซึ่งไม่สามารถสร้างกลไกต่อเนื่องในพื้นที่ได้จริง คิดว่าการทำงานนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำต้นแบบดังกล่าว หลาย ๆ ท่านพูดถึงความต้องการของพื้นที่ ซึ่งอาจมาจากเกษตรกร หน่วยงานในพื้นที่ แต่สิ่งที่เป็นชุดความรู้นั้น บางเรื่องเป็นเรื่องที่สามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้ทันที ในขณะที่บางเรื่องจะมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิบัตรซึ่งทำให้ไม่สามารถดึงมาใช้ทันทีได้ จริงๆ ต้องเห็นความต้องการระดับประเทศที่ต้องนำมาสร้างเป็นชุดความรู้ นำมาคัดกรอง ปรับปรุง แล้วจะนำมาสู่นวัตกรรมที่เหมาะสม สิ่งที่ สกสว. อยากเห็นคือ วงจร PDCA ซึ่งเป็นกลไกการตัดสินใจและการเลือกงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่ง P คือ การกำหนดเป้าหมาย การออกแบบ D คือ การนำงานวิจัยไปใช้ในกระบวนการขับเคลื่อน การร่วมดำเนินการ การร่วมทุน การวิจัยต่อยอด C คือ การติดตาม ประเมินผล การเรียนรู้ และ A คือ การปรับปรุง ทั้งนี้ในวงจรดังกล่าว มหาวิทยาลัยในพื้นที่โดยหน่วยผลักดันการใช้ประโยชน์ (Research Utilization : RU unit) จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันและส่งต่องานวิจัยให้กับหน่วยงานในพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ในการเสวนาครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนจากทุกภาคส่วน และได้มีการสะท้อนถึง “Provincial Think Tank เหมือนเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตของงานวิจัย” ที่จะสามารถยกระดับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่ ซึ่งกลไกดังกล่าวสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆได้ในอนาคต

No comments