Breaking News

อว. จับมือ สกสว. หารือนักวิจัย BCG “กลุ่มอาหารแห่งอนาคต” ขับเคลื่อนสู่ตลาดระดับโลก

 


เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมการประชุมหารือกับนักวิจัยกลุ่มอาหารแห่งอนาคต นำโดย ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านอาหารแห่งอนาคต สกสว. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมคณะนักวิจัย ร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารแห่งอนาคต

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ในมิติของการวิจัยด้านนี้ก็ถือว่าการสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่มีศักยภาพและความเข้มแข็งสูง ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย มองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอาหารของประเทศไทยจะส่งผลลัพธ์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งในระยะปานกลางและระยะยาว เนื่องจากโลกในปัจจุบันและอนาคต มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชากร (Well – being) อาหารจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และจะเป็นสิ่งที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันออกและโลกตะวันตกผ่านทุนวัฒนธรรมทางอาหาร (Food Heritage) ที่ประเทศไทยสะสมมานาน ทั้งนี้ ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการครบทั้ง value chain ของอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งวาระแห่งชาติในเรื่อง บีซีจีโมเดล (BCG Model) โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ยังได้ระบุให้สาขาเกษตรและอาหาร เป็น 1 ใน 4 สาขาของวาระแห่งชาติดังกล่าว ที่เราต้องผลักดันและหนุนเสริม นอกจากนี้ นโยบายของ อว. จะส่งเสริมให้เกิดสถาบันที่มีความเป็นเลิศเฉพาะด้านอาหาร (Food Institute) ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับโลก

ทางด้าน ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านอาหารแห่งอนาคต สกสว. และรักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ได้รายงานสถานการณ์ ววน. ด้านอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังเป็นแบบวัตถุดิบขั้นต้นเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลง แต่โอกาสของประเทศไทยยังมีอยู่ ซึ่งต้องใส่คุณค่าเข้าไปในวัตถุดิบและอาหารของไทย พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงคุณค่าทางอาหารไทย เพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารป้องกันความจำเสื่อม เป็นต้น กระทรวง อว. ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจจำนวนมาก รวมถึงสร้าง start up ในธุรกิจอาหาร แต่ยังต้องการการสนับสนุนจากกระทรวง อว. เช่น การจัดตั้ง food flavor institute ประเทศไทยที่เป็นโอกาสในการเสนอกลิ่นรสไทยสู่ตลาดโลก เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้มีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ววน. ด้านอาหาร โดยมีเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมอาหารที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะตามบริบทของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังผลักดันเรื่องการสร้างกำลังคนในทุกระดับ สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานด้านอาหารในต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ การประชุมในวันนี้ยังเสนอให้มีการผลักดัน BCG ด้านอาหารของประเทศ ให้เป็นหนึ่งในวาระการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia – Pacific Economic Cooperation – APEC) ในปี 2565 เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยด้านอาหารของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ

No comments