Breaking News

สกสว. เสริมแกร่งนักบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนาทักษะ ‘คนวิจัย’ ด้วยแนวคิด ‘Design Thinking’

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในรูปแบบการประชุมออนไลน์ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ร่วมกัน ของบุคลากรระดับปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) มหาวิทยาลัย ตลอดจนหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ โดยมี ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. เป็นประธานเปิดงาน

โอกาสนี้  ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง อาจารย์จากคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ในฐานะที่ปรึกษาภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. สกสว. ได้ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ  “Design Thinking กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. อย่างมีส่วนร่วม” เพื่อปูแนวทางการนำหลักการ Design Thinking  มาใช้กับการบริหารจัดการงานวิจัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวิร์กชอปพัฒนานักบริหารจัดการงานวิจัยในวันนี้
 
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อ “ความรู้และมุมมองจากประสบการณ์ บทบาทหน้าที่ของบุคลากรระดับปฏิบัติการด้านการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม”   โดย วิทยากรผู้คร่ำหวอดในแวดวงการบริหารจัดการงานวิจัยมาอย่างยาวนาน ประกอบ ด้วย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว. รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง  รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อดีตรองผู้อำนวยการ สกว. และที่ปรึกษาภารกิจเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. สกสว. และ คุณกฤษณา ตรีศิลป์วิเศษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล สกสว.  โดยในเวทีดังกล่าว มีประเด็นพูดคุยแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจคือ

ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง
ประธานกรรมการอำนวยการ สกสว.

“นักบริหารจัดการวิจัย” ถือเป็นบุคลากรคนสำคัญที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนให้งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศออกดอกออกผลตามเป้าหมาย  นักบริหารจัดการงานวิจัยเปรียบเสมือบ “กระดูกสันหลัง” (Back Bone) ของงาน   ที่ต้องมีศักยภาพแข็งแรง แต่สามารถปรับเปลี่ยนและตอบสนองสถานการณ์จริงได้ดี  นักบริหารจัดการงานวิจัยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี “มีหัวใจของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening)”  กล่าวคือ ต้องฝึกฟังแบบไม่ตัดสินผู้คนไปก่อน  ในการดำเนินงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ   นักบริหารจัดการงานวิจัยต้องเป็นผู้ที่มีทักษะสำคัญในการเจรจา มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ในการบริหารจัดการงานวิจัย โดยสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
 
ธรรมชาติของการงานวิจัยนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ผลงานวิจัยทั้ง 10 ผลงานจะประสบความสำเร็จ อาจเกิดผลงานชิ้นโบว์แดง 1 หรือ 2 ชิ้น ที่สร้างผลลัพธ์ ผลกระทบสูงให้กับประเทศ  ส่วนหนึ่งของผลงานคือสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายแต่คุณภาพปานกลาง และอีกส่วนเป็นผลงานที่ล้มเหลว ให้นักบริหารจัดการงานวิจัยยอมรับและเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่สิ่งที่นักบริหารจัดการงานวิจัยจะควบคุมได้คือ การจัดการตั้งแต่ต้นทางให้ดี ตั้งแต่การขึ้นโจทย์วิจัย การจัดทำเอกสารโครงการ (Project Document)  ต่างๆ ที่ชัดเจน นอกจากนี้กลไกสำคัญที่ช่วยอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างบุคคลในแวดวงเดียว ระหว่างนักบริหารจัดการงานวิจัยด้วยกัน นอกจากนี้ในเวทีเสวนา หลายฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้กำหนดนโยบายควรส่งเสริมและพัฒนานักบริหารจัดการงานวิจัยทั้งในมิติของเส้นทางอาชีพ (Career path)  และการเปิดโอกาสให้พัฒนาการทำงานจริง  แม้ว่านักบริหารจัดการงานวิจัยจะอยู่ในหน่วยงานสังกัดทั้งกระทรวง มหาวิทยาลัย หรือหน่วยบริหารจัดการทุน แตกต่างกัน โดยผู้กำหนดนโยบายควรเข้าใจบริบทของหน่วยงาน พร้อมส่งเสริมระบบนิเวศวิจัย ที่เอื้อเฟื้อกับการบริหารจัดการงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ   ทั้งนี้ ข้อคิดเห็น ข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ จากทั้งในช่วงของกิจกรรมเวิร์กชอปและเวทีเสวนาในวันนี้  ถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่จะช่วยให้ สกสว. นำไปใช้ในการออกแบบกลไกส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร ววน. ให้มีความเข้มแข็งต่อไป

No comments