Breaking News

วช.หนุนทีมวิจัย ม.มหิดล พัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบอัตโนมัติ ผลิตปุ๋ยได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ

 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหามลภาวะจากขยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ปัจจุบันจึงเริ่มมีการตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการจัดการขยะมากขึ้น ทั้งการรณรงค์การแยกขยะและการนำขยะไปใช้ประโยชน์ โดยในส่วนของขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เริ่มมีการนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์มากยิ่งขึ้น จึงมีการนำเข้าเครื่องกำจัดขยะและเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์มาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การใช้กลุ่มจุลินทรีย์ (microbial consortium) 2 ชนิดและเครื่องต้นแบบผลิตปุ๋ยภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากบ้านเรือนให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดพิเศษ” ซึ่งมี “รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา” จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะและลดการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศ

รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 27.37 ล้านตัน เป็นขยะอินทรีย์ปริมาณ 17.56 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด และจากขยะมูลฝอยทั้งหมดมีขยะมูลฝอยเพียงร้อยละ 43 ที่มีการจัดการตามระบบมาตรฐาน ขณะที่ร้อยละ 57 เอาไปฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง ปัจจุบันแม้ประเทศไทยจะมีการนำเข้าเครื่องกำจัดขยะและเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์จากต่างประเทศ แต่เครื่องยังมีราคาสูง และได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพต่ำ เนื่องจากไม่มีการเติมจุลินทรีย์ หรืออาจมีการเติมจุลินทรีย์ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เหมาะสมกับประเทศไทย “ ตนเองและทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย ศ.ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด, รศ.ดร.รัชนีวรรณ อุ่นแพทย์, รศ.ดร.พัฒนียา ปรางทิพย์ และ ผศ.ดร.อมรรัตน์ อรุณนวล จึงดำเนินการวิจัยเพื่อหาแนวทางลดปริมาณขยะ โดยมุ่งเน้นส่วนที่เป็นขยะอินทรีย์จากบ้านเรือน เนื่องจากขยะอินทรีย์เหล่านี้สามารถใช้จุลินทรีย์และเอนไซม์ที่เชื้อจุลินทรีย์ผลิตขึ้นมาย่อยสลายให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จะมีการเติมกลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช (plant growth promoting rhizobacterium, PGPR) เพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งปุ๋ยชนิดนี้ยังไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย

ทั้งนี้ทีมวิจัย ได้มีการออกแบบเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัตโนมัติ ซึ่งจะสามารถย่อยอินทรียวัตถุในครัวเรือน เช่น เศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือน ภายในเครื่องจะมีกลไกในการย่อยอินทรียวัตถุโดยวิธีทางกายภาพ (mechanical digestion) ซึ่งได้แก่ การบดและกวน และวิธีทางชีวภาพ (biological digestion) โดยการใช้เทคโนโลยีด้านจุลินทรีย์และเอนไซม์ที่เติมเข้าไปในเครื่องผลิตปุ๋ยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการย่อยสูงสุด สามารถเปลี่ยนจากเศษอาหารเหลือจากครัวเรือนให้กลายเป็นดินที่มีองค์ประกอบของสารอินทรีย์ ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นในเชิงคุณภาพของจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ และจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชจากธรรมชาติ

รศ.ดร.สุรางค์ กล่าวอีกว่า จุดเด่นของงานวิจัยนี้อยู่ที่องค์ความรู้จากการออกแบบ การสร้าง ต้นแบบของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากอินทรียวัตถุที่มีการนำเทคโนโลยีจุลินทรีย์และเอนไซม์มาประยุกต์ใช้ในรูป microbial consortium เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการย่อยสลายอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพที่ดี ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ในด้านการลดขยะอินทรีย์ในครัวเรือนแล้วยังสามารถนำไปต่อยอดการใช้นวัตกรรมการวิจัยเพื่อใช้ในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยงานหรือบริษัทเอกชนภายในประเทศที่สนใจช่องทางในการสร้างธุรกิจ สามารถการนำองค์ความรู้ในด้านการออกแบบ และผลการทดลองที่ได้จากการเครื่องต้นแบบผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในการทดลองนี้ไปผลิตให้กลายเป็นสินค้าในกลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีแล้วขายให้กับคนในประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้ราคาของเครื่องผลิตปุ๋ยดังกล่าวมีราคาที่ถูกลง สร้างจูงใจให้กับผู้บริโภคที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถซื้อมาใช้ได้ในครัวเรือนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะมีการเผยแพร่ผลการวิจัยแก่สาธารณชนในรูปแบบของการตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการในวารสารระดับชาติ และส่งต่อเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนในประเทศเพื่อนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากต่างประเทศได้

No comments