“กรมการพัฒนาชุมชน” ติวเข้มชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต้นแบบ 20 ชุมชน พร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปี 2565
นายสมคิด จันทมฤก
อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน และมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) อีกทั้งเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ที่เกี่ยวข้องในชุมชนท่องเที่ยว ให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ยกระดับและฟื้นฟูศักยภาพชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ให้เป็นชุมชนต้นแบบ ซึ่งโครงการนี้นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 3,680 ชุมชน ที่นำเอาคุณค่าและความโดดเด่นทางภูมิปัญญา วิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของชุมชน มาสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในชุมชน โดยมีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 20 ชุมชนในโครงการฯ ได้แก่
- ชุมชนบ้านแม่แมะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
- ชุมชนบ้านถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ชุมชนบ้านปางห้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ชุมชนบ้านหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
- ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
- ชุมชนบ้านเซินเหนือ อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น
- ชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
- ชุมชนบ้านโคกเมือง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
- ชุมชนบ้านตากลาง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
- ชุมชนบ้านพิพิธภัณฑ์ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
- ชุมชนบ้านแก่งแคบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- ชุมชนบ้านล่าง อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
- ชุมชนบ้านสลักคอก อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด
- ชุมชนบ้านตอนใน อำเกอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
- ชุมชนบ้านคลองตาจ่า อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
- ชุมชนบ้านอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
- ชุมชนบ้านลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง
- ชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 อำเภอธารโต จังหวัดยะลา
- ชุมชนบ้านหาดส้มแป้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง
- ชุมชนบ้านปลายคลอง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคงโดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านให้ได้ใช้ศักยภาพและมีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องทักษะ การบริหารจัดการของหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ การจัดทำกิจกรรมที่ให้บริการนักท่องเที่ยว การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนมีโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าและความคุ้มค่าผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เป็นแอ่งใหญ่ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านที่เป็นแอ่งเล็ก รวมถึงบูรณาการ การดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนได้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมโปรแกรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย การยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น”
“กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จด้านการท่องเที่ยวและบริการ ร่วมบูรณาการความร่วมมือถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไปสู่กระบวนการพัฒนาชุมชน ทำให้ชุมชนมีศักยภาพและความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจรโดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า 3 ต. ได้แก่
ต. ที่ 1 เตรียมความพร้อมชุมชน การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวสู่วิสาหกิจเพื่อสังคมผ่านการอบรมทางออนไลน์(Community Social Enterprise) เพิ่มทักษะการเตรียมพร้อมชุมชนเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว การพัฒนาและการออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยวพร้อมจัดกิจกรรมทดสอบการท่องเที่ยว (Test Tour) เพื่อประเมินผล โปรแกรมท่องเที่ยวที่ได้ออกแบบไว้และปรับเปลี่ยนโปรแกรมท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสมกับห้วงระยะเวลาและความต้องการของนักท่องเที่ยว และการคิดค้นเมนูอาหารเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว แบบ Set Menu โดยการนำ วัตถุดิบ ผลิตผล ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคนิคการปรุงอาหารแบบฟิวชั่นจากเชฟที่มีชื่อเสียง เป็นเมนูคาว หวาน และเครื่องดื่ม welcome drink ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสกับรสชาติแบบลับเฉพาะ ที่ต้องมาเที่ยวที่นี่ ถึงจะได้ทานเมนูนี้ เท่านั้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเป็นของฝาก ของที่ระลึกที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของชุมชนเกิดเป็นรายได้ให้แก่คนในชุมชน และเป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย
ต. ที่ 2 ตกแต่งชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยการปรับภูมิทัศน์ของชุมชนให้มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) คลี่คลาย เช่น การจัดทำจุดถ่ายภาพ ป้ายประชาสัมพันธ์จุดท่องเที่ยว การจัดโซนทิ้งขยะ การปรับภูมิทัศน์ทางเข้าชุมชน เป็นต้น โดยมีการดึงอัตลักษณ์จากขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม มาออกแบบ สร้างภาพจำและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์ชุมชนต่อไป
ต. ที่ 3 เติมการตลาดและสื่อสารสร้างการรับรู้สู่สาธารณะ โดยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และ สื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนพร้อมเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียล ผ่าน Influencer เพื่อเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น เฟสบุ๊คแฟนเพจของ Influencer สายท่องเที่ยวอย่าง เพจ Trekkingthai เพจแบกเป้ไง…จะไปมั้ยล่ะ? เพจ National Geographic Thailand และ เว็บไซต์ Sanook.com เพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่นักท่องเที่ยวสายเดินป่าได้มาสัมผัสเส้นทางธรรมชาติแห่งใหม่ในประเทศไทย
“โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีเป้าหมายในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักที่เป็นแอ่งใหญ่ ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ ของหมู่บ้านที่เป็นแอ่งเล็ก รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนได้มีทักษะ ความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรมโปรแกรม การท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อยกระดับและพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยผลักดันให้ชุมชนให้ได้ใช้ศักยภาพในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จนนำไปสู่ การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยตามเป้าหมายของกรมการพัฒนาชุมชนที่จะไม่ทอดทิ้งชุมชน ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมทุก ๆ ด้าน เพื่อช่วยให้ประเทศมีเศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพชุมชนทั้ง 20 ชุมชน และตัวอย่างชุมชนที่ มีความโดดเด่นในโครงการ ฯ นี้ ได้แก่
ภาคเหนือ “ชุมชนปางห้า” จังหวัดเชียงราย มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเก่าแก่กว่า 100 ปี ชุมชนตั้งอยู่เหนือสุดของประเทศไทย ภายในชุมชนประกอบไปด้วยโฮมสเตย์และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมายทั้ง การทำศิลปะบนแผ่นกระดาษสา และสปาใยไหมทองคำ พร้อมชิมอาหารมื้อพิเศษที่มาในรูปแบบขันโตกตามวัฒนธรรมล้านนา
ภาคใต้ก็มีหลายชุมชนที่น่าสนใจอย่างเช่น “ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9” จังหวัดยะลา หมู่บ้านชาวจีนขนาดเล็กซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขา ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “คอมมิวนิสต์” นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่รวบรวมหลักฐาน และเรื่องราว การเดินทางอันแสนยาวไกลกว่าจะตั้งถิ่นฐานยังดินแดนแห่งนี้ และรับฟังเรื่องเล่าจากบุคคลในตำนานเข้าร่วมเหตุการณ์ดังกล่าว และไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้คือการเดินป่าฮาลาบาลา ป่าดิบชื้นที่อุดมสบูรณ์จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ป่าอเมซอนเมืองไทย” และอีกชุมชนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากเป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านอาหารอย่างชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์ จ.นครราชสีมา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเชิงเกษตรที่ต่อยอดมาจากวิถีชีวิตจริงอย่างการปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ด้วยวัตถุดิบที่สด สะอาด ประกอบกับฝีมือการปรุงอาหารจากแม่ครัวชุมชนที่ทำให้บ้านสุขสมบูรณ์รังสรรค์เมนูอาหารที่สุดแสนประทับใจฝากกลับไปให้ ผู้มาเยี่ยมเยือนทุกคน
“ท้ายนี้กรมการพัฒนาชุมชนคาดหวังว่า ผลสำเร็จจากการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ต้นแบบ ทั้ง 20 ชุมชนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากกลุ่มนักท่องเที่ยว เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ชุมชนมีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปี 2565 จากสิ่งที่มีในชุมชน ทั้งความร่วมมือของคนในชุมชน วัตถุดิบในท้องถิ่น และความโดดเด่นของทรัพยากรในด้านต่างๆ เกิดเป็นการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ได้อีกในอนาคต จนนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคงได้ต่อไป” นายสมคิด จันทมฤก กล่าวปิดท้าย
โดยสามารถมาร่วมติดตามการพัฒนาชุมชนต้นแบบไปพร้อมกันทางหน้าเฟสบุ๊คแฟนเพจ: OTOP นวัตวิถี, Local Alike และ Local Alot หรือ https://www.facebook.com/nawatwithi , https://www.facebook.com/LocalAlike , https://www.facebook.com/LocalAlot
No comments