Breaking News

วช. จับมือ คพ. ผลักดันการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม


สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัยในประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศและขยะ ณ ห้องประชุม Lotus 5 – 7 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลักดันนโยบายที่สำคัญและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม บนฐานความร่วมมือทางวิชาการด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยขยายขอบเขตบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. และ คพ. ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และขยะ รวมถึง จัดการสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยในประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม Lotus 5 – 7 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ และออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook ของ วช.

กิจกรรมภายในงานฯ เริ่มด้วยพิธีลงนามความร่วมมือฯ ระหว่าง ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หลังจากนั้น ทั้ง 2 ท่านได้ร่วมกันเปิดงานสัมมนาวิชาการฯ เพื่อสร้างโอกาสให้นักวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจาก วช. นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่สาธารณะ และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สถาบันการศึกษา องค์กรต่าง ๆ รวมทั้งภาคประชาชน เพื่อนำผลการดำเนินโครงการวิจัยฯ ไปใช้ประโยชน์ต่อไป 

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” แบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยจัดตั้ง ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ศกพ. เพื่อทำหน้าที่ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย และมีการพัฒนาระบบพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 7 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอพพลิเคชันบัญชาการการดับไฟป่า เนื่องจากฝุ่น PM2.5 เป็นทั้งมลพิษปฐมภูมิ ที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด และ PM2.5 ทุติยภูมิจากการรวมตัวของสารตั้งต้นต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โครงการวิจัยฯ เพื่อศึกษาการระบายและสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดอนุภาค PM2.5 ทุติยภูมิ จะมีประโยชน์ต่อแนวทางการจัดการคุณภาพอากาศได้อย่างเหมาะสมและสร้างความตระหนักให้กับชุมชนผู้อยู่อาศัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ได้ 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการวิจัยเชิงรุก ด้วยการประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนงานวิจัยตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ตามความต้องการ และใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง วช. กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งมีการต่อยอด ขยายผลกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ทราบถึงแนวทางการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนําผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการวิจัยและนวัตกรรม 


วช. และ คพ. มีความร่วมมือกันในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัยเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 โดย คพ. ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยในประเทศไทย จัดทำโครงการวิจัยต่าง ๆ เพื่อการแก้ไขปัญหา PM2.5 ทั้งในเชิงการบริหารจัดการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจาก วช. มาอย่างต่อเนื่อง ในปีนี้จึงเห็นพ้องร่วมกันขยายขอบเขตในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมประเด็นการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และขยะ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกันในการสนับสนุนการดำเนินงานแผนงานวิจัยด้านการพัฒนาและเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างบูรณาการ เชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

No comments