Breaking News

ติดตามความคืบหน้า หลัง “บ.ฟอกหนังไทยรุ่งเรือง” ร้องรมว.ทรัพย์ฯตรวจสอบมือดีนำกากอุตสาหกรรมฝังพื้นที่เทศบาลบางปู 52

นายณัฏฐชัย ศรีตั้งศิริกุล กรรมการ บริษัทฟอกหนังไทยรุ่งเรือง จำกัด นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามสังเกตการณ์ความคืบหน้ากรณีมีการนำกากอุตสาหกรรมฝังกลบพื้นที่ซอยเทศบาลบางปู 52 หวังผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของสังคมชุมชนในพื้นที่ต่อไป   




นายณัฏฐชัย ศรีตั้งศิริกุล กรรมการ บริษัทฟอกหนังไทยรุ่งเรือง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทเขตประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนังกม. 30 จำกัด เป็นผู้รับกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมฟอกหนังในเขตประกอบอุตสาหกรรม ในบริเวณพื้นที่ซอยเทศบาลบางปู 52  ก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 กรณีตรวจพบว่ามีการนำกากอุตสาหกรรมไปฝังกลบในที่ดินบริเวณใกล้เคียง สิ่งที่พบคือของแข็งเป็นลักษณะปูน จากการปั่นถอดขนเศษหนัง เศษหนัง เศษจากการเจียรหนัง คราบน้ำโครเมียม ที่ใช้ในกระบวนการฟอกหนังและยังพบ การเทของเหลวในพื้นที่ ใกล้เคียงอีกด้วย






นายณัฏฐชัยเปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องนำกากอุตสาหกรรมมาฝังกลบดินนั้นคาดว่า เป็นการลดต้นทุนในการจัดการของเสียแต่มิได้นำไปจำกัดให้ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งกากอุตสาหกรรมมีผลกระทบต่อชุมชนทำให้น้ำในคลองเน่าเสียมีกลิ่นเหม็นทำให้ระคายผิวหนังได้ และทางบริษัทฟอกหนังไทยรุ่งเรืองจำกัดมีความตระหนักถึงปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรม ที่เป็นอันตรายต่อชุมชนในพื้นที่ จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อ รัฐมนตรี ดังข้างต้น  และรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กองตรวจมลพิษกรมควบคุมมลพิษมอบหมายให้ นายจตุรงค์ อัศวโสวรรณ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติเป็นผู้ตรวจสอบ ลงพื้นที่การจำกัดของเสียที่ไม่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบผลการตรวจสอบ



นายณัฏฐชัยกล่าวต่อว่า กากของเสียอุตสาหกรรมที่ถูกกำจัดออกจากบ่อบำบัดน้ำเสีย ควรจะมีการจัดเก็บกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง ในพื้นที่ที่มีรั้วรอบขอบชิดก่อนนำไปกำจัดทิ้งตามขั้นตอนปกติ  โดยการเก็บกากอุตสาหกรรมหรือเคมีก่อนนำไปเผาหรือกำจัดทิ้ง ต้องทำเป็นบ่อมีหลังคามิดชิด เพื่อไม่ให้มีน้ำซึมออกจากพื้นที่สู่คูคลอง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ซึ่งอยากให้ทางเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯแก้ไขดูแลให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมฯอย่างถูกต้อง เพราะเราต้องมองถึงส่วนรวมด้วย จะมองถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียวไม่ได้ และไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้งแต่อย่างใด




“หากบริษัทต่าง ๆ มีการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมที่ดี ร่วมด้วยช่วยกันดูแล จะส่งผลดีต่อพื้นที่และจะส่งผลดีอนาคตที่มีคนรุ่นใหม่มาบริหารมาดูแลต่อไป ในฐานะที่ตนเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง  นอกจากนี้อยากให้ทางราชการมาช่วยดูแลเขตประกอบการอุตสาหกรรมฯเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ซึ่งจะมีการติดตามผลผลักดันในเรื่องนี้ต่อไป” 

อนึ่งกลุ่มบริษัทฟอกหนังย้ายมาจากคลองเตยมายังพื้นที่ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ราวปี 2517  และเริ่มขอจัดตั้งเป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมฟอกหนังกม. 30  ราวปี 2535 โดยมีโรงงานฟอกหนังเป็นผู้ถือหุ้น 83 หุ้นใหญ่ มีพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 200 ไร่

No comments