Breaking News

สกสว. เปิดเวที STO Forum ครั้งที่ 1 ระดมพลรวมพลังขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ไทย


 วันนี้ (9 มีนาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม “ Science and Technology Organization Forum ” STO Forum ครั้งที่ 1/2564 โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ร่วมระดมให้ความเห็น ประเด็นการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ไทย เช่น เป้าหมายและการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอนาคต / แนวทางการทำงานร่วมกันในการทำแผนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมโยงภารกิจของหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สกสว. ยังคงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่และร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยมีความก้าวหน้า และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างมาก ทำให้ในครั้งนี้ สกสว. จึงเชิญผู้บริหารหน่วยงานในด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศมาร่วมกันระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทาง และหาแนวทางการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งปัจจุบัน สกสว. มีการปรับโครงสร้างองค์กรแบบแมกทริกซ์ (Matrix Organization) มีการทำงานในลักษณะมุ่งหวังผลลัพธ์ (Outcome Base) พร้อมกับตั้งหน่วยในองค์กรที่ดูแลในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง

ดร.ณิรวัตน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการภารกิจขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า หากมองภารกิจของ สกสว. ตามคำจำกัดความใน พรบ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 จะเห็นใจความสำคัญที่บอกว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการดำเนินกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตและบริการ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของสังคม โดยที่ผ่านมา สกสว. ได้ร่วมระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์จากทั่วประเทศ ทำให้เห็นถึงกรอบสำคัญในระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 ด้านประกอบด้วย 1) การให้บริการเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย 2) กำลังคนด้านวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยี 3) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4) เทคโนโลยีพื้นฐาน และ 5) การสื่อสารเพื่อสร้างสังคมฐานความรู้

นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ ยังคงมีการหารือในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ไทยต่อไป

No comments