“ดีป้า” สานต่อโครงการส่งเสริมและจัดแสดงพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการย่านปทุมวันประยุกต์ใช้ดิจิทัลเดินหน้าธุรกิจ พร้อมขยายผลนำร่องสร้างพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบใน 6 จังหวัด
20 มีนาคม 2564, กรุงเทพมหานคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สานต่อโครงการส่งเสริมและจัดแสดงพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบ พื้นที่เขตปทุมวัน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเลือกสรรเทคโนโลยีดิจิทัล 12 ประเภทจากดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 50 รายยกระดับธุรกิจ ผ่านกิจกรรม On Ground และ On Cloud เพื่อสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่สนใจ เผยเตรียมพร้อมนำร่อง 6 พื้นที่ ควบคู่การพัฒนาแพลตฟอร์มไทยเพื่อคนไทย ขยายช่องทางการจำหน่ายและจัดส่งสินค้า ตั้งเป้าผู้เข้าใช้งานมากกว่า 20,000 ราย
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า หลังเปิดตัวโครงการส่งเสริมและจัดแสดงพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Economy Showcase) พื้นที่เขตลาดพร้าว เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การค้ายูเนียน มอลล์ ดีป้า พร้อมสานต่อการส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะเขตปทุมวันต่อเนื่อง โดยบูรณาการการทำงานกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยโครงการส่งเสริมและจัดแสดงพื้นที่เศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบจะช่วยให้ผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจสร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจจากเทคโนโลยีดิจิทัล 12 ประเภทที่เลือกสรรจากดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยที่ผ่านการคัดเลือกจาก ดีป้า รวมกว่า 50 ราย ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ยกระดับการดำเนินธุรกิจ แก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ ขยายตลาด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดกิจกรรมในรูปแบบ On Ground เพื่อสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การสาธิตวิธีใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตในยุคชีวิตวิถีใหม่ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการและดิจิทัลสตาร์ทอัพได้มาพบกัน เพื่อรับคำปรึกษา ทดลองใช้เครื่องมือดิจิทัลด้านต่าง ๆ รวมถึงการร่วมเจรจาธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในรูปแบบ On Cloud ผ่านเว็บไซต์ depa Business Matching on Cloud (https://www.zipeventapp.com/e/depabusinessmatchingoncloud) แพลตฟอร์มของ Zipevent ดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีการนำเสนอโปรโมชั่นสำหรับผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการสามารถนัดหมายเจรจาธุรกิจกับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่สนใจได้แล้ววันนี้จนถึงวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวถือเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและดิจิทัลสตาร์ทอัพ และลดความเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อีกด้วย
“ดีป้า ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ตลาดสดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลยกระดับธุรกิจ โดยเตรียมนำร่องใน 6 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี และลพบุรี พร้อมส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มไทยเพื่อคนไทยในการเป็นช่องทางการจำหน่ายและจัดส่งสินค้า สนับสนุนบรรดาผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคชีวิตวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) คาดมีผู้เข้าใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวมากกว่า 20,000 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสู่เมืองอัจฉริยะ โดยคำนึงถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ (Human Centric) และวิเคราะห์ถึงความต้องการและการแก้ปัญหา โดยใช้เทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการนั้น ๆ อย่างเหมาะสม โดยการออกแบบพื้นที่ให้มีองค์ประกอบ Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Living, Smart Economy และ Smart Governance ด้วยวิสัยทัศน์ในการพัฒนา SAMYAN Smart City ให้เป็นย่านที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยอย่างยั่งยืน
ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงพัฒนาพื้นที่แห่งโอกาสที่มีการสร้างสภาพแวดล้อม หรือ ECO-SYSTEM ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดนวัตกรรม ได้แก่ CO-WORKING SPACE HUB, CU INNOVATION HUB, SIAM INNOVATION DISTRICT (SID), BLOCK 28 Startup village and sandbox ทำให้เกิดเป็นชุมชนที่รองรับธุรกิจดิจิทัลสตาร์ตอัพ สร้างการเชื่อมโยงและความร่วมมือทางธุรกิจ และพื้นที่นี้ยังเป็น LIVING LAB สนับสนุนเปิดโอกาสให้ดิจิทัลสตาร์ตอัพได้มาทดลองสิ่งใหม่พร้อมพัฒนาเพื่อเติบโตเป็นธุรกิจที่สามารถตอบสนอง ทั้งสังคม ชุมชน และสามารถขยายผลทางธุรกิจให้เติบโตในแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อาทิ Muvmi (EV TUK-TUK SHARING) , HAUP CAR (Car-Sharing) , LEAF (EV Scooter sharing) , EVolt (EV Charging) , EVT (EV Shuttle Bus) , Banpu (Solar Rooftop), Meticuly (ผลิตภัณฑ์กระดูกไทเทเนียม) , Start Dee (Education Tech) ฯลฯ และให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการรายใหม่ในการสร้างธุรกิจและเติบโตเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม เช่น Eveandboy, โอ้กะจู๋, SOS, Nice to Meat you เป็นต้น สนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CIRCULAR ECONOMY) เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่อีกด้วย
No comments