Breaking News

สทน. ผนึก มรภ. หนุนสร้างมูลค่า “อาหารพื้นถิ่น” ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี

    สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทน. ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารฉายรังสีสู่ผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับคุณภาพ “อาหารพื้นถิ่น” ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ สู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 


             วันนี้ (25 มี.ค.64) รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการและบูรณาการ ด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนิวเคลียร์” ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จัดขึ้น ภายใต้โครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” และ “โครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี” โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร มรภ. และ สทน. ร่วมงาน ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

​​​รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าโอทอป รู้จักปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาและยกระดับสินค้า แต่ยังคงคุณค่าและรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สทน.และมรภ. ในครั้งนี้ จึงถือได้ว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวง อว. ในยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ เรื่องการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งตรงกับยุทธศาสตร์ในเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของประเทศ และสร้างระบบนิเวศการวิจัย    

​​​ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วยวิธีการฉายรังสีให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น มีโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ โครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี และ โครงการคูปองยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการและผู้บริโภคบางส่วน ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสีที่ถูกต้อง จนเกิดความกังวลและเข้าใจผิด ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร 

ดังนั้น ทาง สทน.จึงได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน และคุ้นเคยกับผู้ประกอบการ  เพื่อร่วมมือกันยกระดับการรับรู้เรื่องการฉายรังสีอาหารอย่างถูกต้องให้กับคนไทย โดยในปี 2564 นี้ สทน.ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบด้วย มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.พระนครศรีอยุธยา และ มรภ.ธนบุรี  โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และสนับสนุนให้นำผลิตภัณฑ์อาหารที่มีศักยภาพของชุมชน และอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อโรคต่างๆ มาฉายรังสี รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี  เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค มีอายุการจัดจำหน่ายที่ยาวนานขึ้น และช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์  อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจชุมชน รวมทั้งนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศในอนาคต 



“ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานทางด้านนี้มาตลอด และมีผลการวิจัยที่ยืนยันเป็นที่ยอมรับมากว่า 40 ปีแล้วว่า อาหารที่ผ่านการฉายรังสีนั้นไม่มีอันตรายและไม่เกิดผลกระทบกับร่างกายแต่อย่างใด โดยวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของการฉายรังสีในอาหารคือ การลดปริมาณจุลินทรีย์ การฆ่าเชื้อปรสิต ฉะนั้น อยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SME กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง และสมุนไพร สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ ฉายรังสีกับ สทน. ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น” ผอ.สทน.กล่าวในตอนท้าย




ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง มีพื้นที่บริการแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เราดูแล 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เพราะฉะนั้นแต่ละมหาวิทยาลัยมีพื้นที่บริการ การทำงานร่วมกับ สทน. คือ เราเน้นในเรื่องของการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับชุมชนให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นการทำงานของมหาวิทยาราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เรามองถึง 2 ช่องทางก็คือการสร้าง train the trainer ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้จาก สทน.  ส่วนที่ 2 คือ การสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นการสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เราดึงเอาศักยภาพของชุมชนผ่านอาหารพื้นถิ่นหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ อาจจะเน้นในเรื่องของวัฒนธรรมด้านอาหาร เพราะฉะนั้นเราก็มาต่อยอดองค์ความรู้ที่ทาง สทน.มีคือการฉายรังสี ทำยังไงให้สินค้าเหล่านั้นยกเป็น Premium grade เน้นถึงความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการรับประทานของผู้บริโภค แล้วส่งต่อถึง SME หรือผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อยกระดับสินค้าให้สามารถตอบโจทย์ในประเทศหรือต่างประเทศได้ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการวิจัย เรามองแล้วว่ากระทรวง อว. เราผนึกกำลังโดยท่านรัฐมนตรีท่านก็มีแนวคิดว่า ท่านมองถึงการพัฒนาบุคลากรในเรื่องของการวิจัย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพร้อมที่จะดำเนินงานตามนโยบายของท่าน และสิ่งสำคัญก็คือการสร้างแผนงานวิจัยร่วมกันในกระทรวง อว. เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ อันนี้คือแนวทางที่เรามองว่าจะทำงานด้วยกันต่อไป


No comments