Breaking News

วช. นำทัพนักวิจัยไทยคว้ารางวัล Grand Prize และเหรียญรางวัลจากงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

 

ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย คว้ารางวัล Grand Prize จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2022” (SIIF 2022) ที่จัดขึ้นโดย Korea Invention Promotion Association (KIPA) เมื่อวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ Coex Convention & Exhibition Center กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำคณะนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลสูงสุดจากเวที SIIF 2022 โดยได้รับ Grand Prize 2 รางวัล จากผลงานเรื่อง “ห้องความดันลบที่สามารถเคลื่อนย้ายได้เพื่อใช้เป็นห้อง ICU ในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นนวัตกรรมที่ร่วมรับมือและบรรเทาสถานการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้สนับสนุนโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ของกรุงเทพและปริมณฑล และผลงานเรื่อง “หลังพร้อม” โดย ด.ช.พิชชากร อรพิมพันธ์ ด.ญ.พัทธ์ธีรา อรพิมพันธ์ และด.ญ.พัทธวรรณ พิบูลธรรม แห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม โดยมี อาจารย์จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ เป็นที่ปรึกษา “หลังพร้อม”เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์ผู้มีปัญหาการนั่งผิดท่าหรือนั่งนาน และเบาะรองมีเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับและเก็บท่านั่งของผู้ใช้ พร้อมมีเสียงเตือนเพื่อจัดท่านั่งที่ถูกต้องโดยใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น Oh My Back!

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กร International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกนิ้วมือจากภายนอกแบบขยับได้” โดย ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิง จิรายุ เอื้อวรากุล,นพ.เตมิพงศ์ พ่อค้า และดร.ทศพร เฟื่องรอด จาก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, Taiwan Invention Association (TIA) มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต” โดย ว่าที่พันตรีวัชรพล ลักษณ์ลม้าย, นายนิวัตร ศรีคำสุข และคณะ จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา และ Korea Fire Institute มอบรางวัลให้แก่ ผลงานเรื่อง “ระบบวิเคราะห์ไฟฟ้าตามเวลาจริง” โดย นายอาทร ศรีอัจฉริยะ และคณะ จาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

พร้อมนี้ ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยยังคว้าเหรียญรางวัลจาก SIIF 2022 ในประเภทต่างๆ ได้แก่ เหรียญทอง 27 ผลงาน เหรียญเงิน 10 ผลงาน เหรียญทองแดง 25 ผลงาน พร้อมด้วย Special Prize จากประเทศต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมในพิธีมอบรางวัล และกล่าวแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที SIIF 2022 พร้อมกล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีกับทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ที่ได้สร้างชื่อเสียงและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง การส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป




No comments