Breaking News

เนคเทค สวทช.จับมือ อพท. ร่วมส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้ และปัญญาประดิษฐ์

     20 สิงหาคม 2565 : ณ โซน Beacon ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์ ชูพื้นที่นำร่อง สร้างความหลากหลายกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ

ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

ในโอกาสนี้นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค สวทช.) ร่วมลงนามในครั้งนี้ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวแสดงความยินดีกับทั้งสองหน่วยงาน

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี
ผอ. อพท.

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผอ. อพท. กล่าวว่า อพท. เชื่อเสมอว่า “ทำท่องเที่ยว เก่งคนเดียวไม่ได้” เราจึงมุ่งเน้นประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรของการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ อพท. เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การสร้างประโยชน์จากการใช้นวัตกรรมมายกระดับการท่องเที่ยวในระดับชุมชน จนถึงระดับแหล่งท่องเที่ยว ไปสู่ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ทั้งทางตรงและทางอ้อม นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนา เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว โดยการนำร่องในระยะแรก อพท. และ เนคเทค ได้คัดเลือก 10 ชุมชนนำร่องซึ่งล้วนเป็นชุมชนที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่ทำงานร่วมกับ อพท. จนมีความเข้มแข็ง ซึ่งการทำงานร่วมกับ NECTEC ในครั้งนี้ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการบูรณาการข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ในการสื่อความหมายนำเที่ยวได้ในระยะยาว

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย
ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับและฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยหลังภาวะโควิด19” ซึ่ง เนคเทค สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก แผนงานกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มต้นแบบที่เนคเทคพัฒนาขึ้นในชื่อว่า “นวนุรักษ์” โดยเน้นไปที่การบูรณาการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลให้สามารถเชื่อมโยงและใช้งานในรูปแบบเปิด (linked data and open data) และพัฒนาโมดูลต่างๆ เพื่อขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลให้รองรับการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์บริบทการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำร่องทดลองกับพื้นที่ในการดูแล และได้รับคำแนะนำจาก อพท. จำนวน 10 พื้นที่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่
1.​ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านท่าดินแดง จังหวัดพังงา​
2.​ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน
3.​ชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
4.​ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้ง บ้านโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ​
5.​ชุมชนท่องเที่ยวบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์​
6.​ชุมชนเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
7.​ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหนองอ้อ-ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย​​
8.​หมู่บ้านวัฒนธรรมไทญ้อบ้านโพน จังหวัดนครพนม
9.​วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าระแนะ จังหวัดตราด
10.​กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำมูลบ้านสุขสมบูรณ์ จังหวัดนครราชสีมา​​


โดยเนคเทค สวทช. ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อเข้ามาช่วยเป็นสื่อกลางซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการนำเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในส่วนกลางอย่าง เนคเทค ไปขยายผลถ่ายทอดสู่ชุมชนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จริง เนคเทคต้องขอขอบคุณ
1)​มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
2)​มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3)​มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่
4)​วิทยาลัยชุมชนน่าน
5)​มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร
6)​มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7)​มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี
8) ​มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี




เนคเทค สวทช.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมพร้อมใช้และปัญญาประดิษฐ์ ที่ศูนย์ฯ วิจัยและพัฒนาอย่างทุ่มเทตลอดมา ได้เข้าไปมีส่วนช่วยบูรณาการข้อมูลในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว และหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร. สิรี  ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันมีการพัฒนา ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการคลังข้อมูลดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล แสดงผลข้อมูล และการให้บริการข้อมูล สำหรับต่อยอดการนำข้อมูลจากคลังข้อมูลไปสร้างมูลค่าส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยนำร่องทดลองกับเครือข่ายที่มีความพร้อม และขยายเครือข่ายหน่วยงานให้บริการข้อมูลวัฒนธรรมดิจิทัลผ่านบริการที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้

การท่องเที่ยวหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เราอาจจะต้องการข้อมูลต่างๆของทางด้านวัฒนธรรม ท้องถิ่น การกินอยู่และการที่เราต้องอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมความหลากหลายทางชีวภาพ มันถูกรวบรวมค่อนข้างกระจาย ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการท่องเที่ยว  อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่า ทางกลุ่มดิจิทัลมาคุยกันในเรื่องของการท่องเที่ยว และเริ่มคุยกันว่า เราควรจะมาเริ่มทดลองบริหารจัดการบางส่วนเพื่อที่จะให้ความสะดวกกับนักท่องเที่ยวในประเทศที่จะได้ไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เราคิดว่าโครงการนี้จะช่วยเหลือได้

No comments