รมว.อว. เป็นประธาน MOU ยกระดับ “อาหารไทยภาคเหนือ” ด้วยการฉายรังสี
กระทรวง อว. เตรียมยกระดับอาหารพื้นถิ่นในภาคเหนือ สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อเพิ่มโอกาสการตลาด ผ่านความร่วมมือของ 5 หน่วยงานหลัก นำโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. พร้อมด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)และ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือ เชียงใหม่ เชียงราย และกำแพงเพชร
วันนี้ (22 ส.ค.65) ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานใน “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการ วช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 3 แห่ง ได้แก่ มรภ.เชียงใหม่ มรภ.เชียงราย และ มรภ.กำแพงเพชร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. วช. และ มรภ. เข้าร่วมงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าว เปิดงานว่า วันนี้ได้ไปตอบกระทู้เรื่องโทคาแทค ใช้ความรู้ทางเทคนิคสูง ได้รับฟังการบริฟจาก ผอ.ธวัชชัย เพื่อไปตอบกระทู้ที่วุฒิสภา โดยชี้ว่า เราจะมองข้ามวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย หรือทำเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้ เมื่อปีที่แล้วผมได้กล่าวถึงการสร้างยานอวกาศโดยคนไทย ให้ไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ในเวลาไม่เกิน 7 ปี ถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยการตอบกระทู้ในวันนี้ ได้เปรียบเทียบให้วุฒิสภาทราบว่า โทคาแมค เหมือน การสร้างดวงอาทิตย์จำลองบนพื้นโลก ที่นครนายก โดยจีนได้ให้ชิ้นส่วนแกนกลางแก่เรา นักวิทยาศาสตร์ไทยไปทดลองเดินเครื่องแล้วทำได้ จากนั้นจะถอดเครื่องและประกอบเครื่องเพื่อมาติดตั้งในประเทศไทย เกิดเป็นพลังงานสะอาด แบบที่เกิดบนดวงอาทิตย์ได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทำให้ไทยเป็นเอเชียชาติที่ 5 หลังจาก จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ที่ทำเครื่องโทคาแมคได้ คนในกระทรวง อว. ต้องเชื่อมั่นว่าเราจะเป็นชาตินำหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างแน่นอน อย่างแน่นอน ขอเน้นย้ำว่า อย่างแน่นอน
การตั้งกระทรวง อว. เป็นเรื่องพิเศษ เมื่อก่อน สทน. อยู่กระทรวงวิทยาศาสตร์ / วช. ขึ้นตรงกับ นายกรัฐมนตรี / มรภ. อยู่กระทรวงศึกษาฯ ในตอนนี้มารวมกันแล้ว พวกเราต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ การได้เห็น MOU วันนี้ระหว่าง สทน. กับ มรภ. 3 แห่งภาคเหนือ เอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปช่วยถนอมอาหารพื้นถิ่น เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เราทำ U2T for BCG ปีนี้เป็นปีที่ 2 จะทำ 3 เดือน ผ่านไปแล้วเดือนครึ่ง ได้จัด Hackathon มี 4 ทีม ที่ได้รางวัล เป็น มรภ. ได้รางวัลชนะ 2 ประเภท / มทร. ชนะ 1 ประเภท / ปัญญาภิวัฒน์ อีก 1 ประเภท แสดงว่าจะดูแคลน มรภ. มทร. และ ม.เอกชน ไม่ได้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผมได้กล่าวในที่ประชุม ทปอ. ว่า หลักสูตรของเราส่วนใหญ่ เอามาจากตำราต่างประเทศที่มองไม่เห็นจุดแข็งของคนไทย เราต้องดูว่าคนไทยเก่งเรื่องอะไร แล้วเปิดวิชาเรื่องที่คนไทยเก่ง ไม่ต้องไปลอกหลักสูตรจากชาติตะวันตกทั้งหมด มรภ./มทร. ต้องดูว่าเราอยู่ที่ไหน คนท้องที่เก่งเรื่องอะไร แล้วเราก็ไปสอนเรื่องนั้นๆ ให้เก่ง เพราะคนไทยมี DNA ที่เก่งในเรื่องสร้างสรรค์ เช่น รำโนราห์ หรือเดินแบบแฟชั่นได้แม้จะไม่เคยมีการสอนจริงจัง สรุปว่า อาจทำได้สองทางคือ เอาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาสอน และ เอาเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มาทำให้ดี ท้ายสุดนี้ ขอชื่นชมงานในวันนี้และอย่าให้เป็นเพียงกิจกรรมที่จัดไปเรื่อยๆ แต่ขอให้มีหมุดหมายการใช้ประโยชน์ เชื่อมโยง มรภ. กับหน่วยงานวิจัย ให้ทำงานร่วมกัน
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
ผู้อำนวยการ สทน.
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกระดับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน ด้วย “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯในวันนี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้การฉายรังสีในอาหารเป็นที่ยอมรับและมีการใช้ประโยชน์แพร่หลายมากขึ้น โดยในปี 2564 – ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา สทน. ได้ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ในภาคกลาง และภาคใต้ ประกอบด้วย มรภ.พระนครศรีอยุธยา /มรภ.ธนบุรี/ มรภ.ราชนครินทร์ / มรภ.สุราษฎร์ธานี / มรภ.สงขลา /มรภ.ภูเก็ต ร่วมกันจัดฝึกอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างการยอมรับ โดยมีอาหารพื้นถิ่นที่ส่งเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 301 ผลิตภัณฑ์
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในพื้นที่ “ภาคเหนือ” โดยมีจังหวัดเป้าหมาย คือเชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร โดยในส่วนของ สทน. กับ วช. และ มรภ.ทั้ง 3 แห่ง จะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ และอำนวยความสะดวกให้มีศูนย์ประสานงาน ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี มีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
“การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับอาหารพื้นถิ่น ในแต่ละภูมิภาคของไทย ด้วยการฉายรังสี เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของ สทน. โดยนอกเหนือจากความปลอดภัยในการบริโภคของคนไทยแล้ว สทน. ยังต้องการให้อาหารพื้นถิ่นของไทย เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศด้วย เพราะประเทศไทยของเรา ยังมีอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจอีกมากมาย โอกาสนี้ จึงอยากขอเชิญชวนผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแปรรูป สมัครเข้ามาร่วมโครงการฯ กับ สทน.ได้นะครับ ผมมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ท่านจะมีทางเลือก มีโอกาสในการทำตลาดเพิ่มมากขึ้นครับ” ผอ.สทน.กล่าวทิ้งท้าย
No comments